Posted on พฤศจิกายน 1, 2013

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับอาจารย์ชิราอิชิ หลังฝึกเสร็จจึงขอมาเล่าสู่กันฟังครับ

อาจารย์ท่านเล่าว่าบูจินกันเป็นศิลปะการต่อสู้โบราณแต่ไม่โบราณ โดยลักษณะการฝึกนั้นมีความคิดที่ไม่ให้ยึดติด วิชาของบูจินกันนั้น ในการฝึกตามปรกติแล้วไม่ยึดติดในกาต้า หรือ พูดง่าย ๆ คือไม่ยึดติดในรูปแบบ ถึงแม้จะมีกาต้ามาจากวิชาที่สืบทอดมาก็ตาม แต่กาต้าที่เรียนนั้นก็เป็นเพียงพื้นฐาน แต่ที่สำคัญคือความคิด ที่สะสมมากว่า 900 ปีต่างหาก

เขียนเองยังอ่านแล้วงง ขอขยายความแล้วกันครับ ท่าเป็นของตาย แต่คนเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ ถ้าใครเคยดูหนังจีนจะเห็นว่า แต่ละวิชาจะมีท่าที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งในบูจินกันก็มีเช่นกัน ในแต่ละริวทั้งเก้าริวของบูจินกันก็จะมีท่าเฉพาะตัวอยู่ ซึ่งมักถูกใช้ในการฝึกพื้นฐาน ในระดับการฝึกของผู้ฝึกระดับต้น ก็ทำให้คนฝึกหลาย ๆ คนที่มุ่งหวังจะฝึกให้สำเร็จ ก็ถึงกับนั่งท่องท่าพวกนี้กันเลยทีเดียว

ซึ่งในการฝึกของนินจุสสุจริง ๆ แล้วเรื่องการท่องชื่อมันไม่สำคัญ นินจุสสุ จึงไม่มีการสอบสายเพื่อขึ้นระดับสายสูงขึ้นด้วยชื่อท่าพวกนี้ จากความจริงที่ว่า ถ้านั่งท่องชื่อท่าไป หรือ สักแต่ว่าทำท่าตามที่เรียกไปก็ไม่ได้จะทำให้ผู้ฝึกพัฒนาดีขึ้น (เหมือนระบบการศึกษาบ้านเราที่นั่งท่องตำราเป็นนกแก้วนกขุนทอง) แต่เน้นที่ความเข้าใจในแต่ละท่ามากกว่า การจำวิชาแต่ละท่าเป็นแพทเทิร์นจึงไม่จำเป็น (เพราะถ้าอยากรู้เมื่อไรก็เปิดหนังสือดูซะ)

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่รู้ได้เพราะต้องฝึกมาตั้งแต่การฝึกพื้นฐาน แต่การไม่ยึดติดกับการไม่รู้นั้นต่างกัน คือต้องมีความรู้ในท่านั้น ๆ แต่ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะที่ฝึกตามแบบแผน เพราะโลกนั้นเปลี่ยนไปทุกวัน วิธีการต่อสู้วิธีคิดจะต้องนำสิ่งที่มีมาใช้ได้ ยกตัวอย่างในอดีตครั้งกลุ่มนินจาอิกะเข้ามารับใช้ โตกุกาวะ อิเยยาสุ มีการจัดตั้งหน่วย hyakunin gumi เฮียกุนินกุมิ เป็นกองทหารที่มาจากกลุ่มนินจาอิกะและโคกะ นอกจากแทคติคการต่อสู้แบบนินจาแล้ว อาวุธหลักของกองทหารนี้คือปืนยาวโบราณ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่านินจาก็มีการเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ การฝึกในปัจจุบันเช่นกัน การฝึกนินจุสสุจะฝึกให้คิดและวิเคราะห์อยู่เสมอ

การต่อสู้แบบนินจุสสุคือการสู้เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น แต่เพื่อให้ภารกิจอยู่รอด การสู้จนตัวตายก็ไม่ใช้ทางออกที่ดีที่สุดเพราะภารกิจด้านหลังก็จะจบไปด้วย แต่เมื่อสู้ก็ต้องหาทางที่ดีที่สุดที่จะเอาชนะ แนวคิดนี้เองทำให้นินจุสสุยังอยู่รอดจนทุกวันนี้ และยังทำให้การฝึกถูกนำไปใช้กับหน่วยงานปัจจุบันที่เห็นความสำคัญหลาย ๆ แห่ง

จนถึงปัจจุบันการฝึกที่ญี่ปุ่นมักมีการแชร์ประสบการณ์จากผู้ฝึกในหลากหลายอาชีพ โดยผู้ฝึกที่ได้นำนินจุสสุไปประยุคใช้ในสถานการณ์จริงต่าง ๆ กัน แม้กระทั่งเรื่องที่ดูง่าย ๆ อย่าง การเผชิญกับคนเมาในร้านอาหาร ผู้ทำงานในร้านอาหารหากเจอคนเมาควรจะรับมืออย่างไรอย่างละมุนละม่อม วิธีการอุ้ม การพยุง การควบคุม จะทำอย่างไร ในบางครั้งก็เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างแก้ไขยากอย่างสถานการณ์ช่วยตัวประกัน และ การฝึกที่ปรกติมักไม่มีการคิดถึงกัน เช่น เจ้าหน้าที่ ๆ  Air marshal มีลักษณะการต่อสู้บนเครื่องบินที่เคลื่อนที่ยากหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น เพราะทางเดินที่แคบ ลักษณะของห้องโดยสารที่ไม่มีที่กว้างพอทำให้การเคลื่อนไหวต่อย เตะทั่วไปใช้งานยาก การทุ่ม การปล้ำก็ลงไปทำได้ยาก หรือ หากเกิดการไฮแจ๊คขึ้น จริง ๆ จะมักมีผู้ร่วมก่อเหตุ มากกว่าหนึ่งคนการต่อสู้ควรทำอย่างไร ไม่ใช่ใช่แต่กำลังตัดสิน

จนกระทั่งการต่อสู้ในสนามรบปัจจุบันที่ วิชานินจา หรือนินจุสสุนั้นถูกนำไปประยุกใช้ ในหลายหน่วยงานโดยเฉพาะในต่างประเทศ สถานการณ์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นขุมความรู้ของวิชานินจุสสุที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ด้วยการฝึกต่อ ๆ กันมา และ ยังถูกนำมาใช้ในปัจจุบัน