ทำไมต้องเดินทางมาฝึกบูจินกันที่ประเทศญี่ปุ่น
เก่งขึ้นหรือเปล่า?
คำตอบที่ง่ายที่สุด น่าจะเป็นการฝึกฝนให้ฝีมือเราดีขึ้น การฝึกศิลปะต่อสู้นั้นจะต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง สายดำระดับหนึ่งในบูจินกันนั้นเรียกว่า shodan ซึ่งมีความหมายว่า “ขั้นเริ่มต้น” ดังนั้นการได้รับสายดำระดับหนึ่งมิได้หมายความว่าเราเรียนจบแล้ว เรายังจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง หากจุดประสงค์ในการฝึกของคุณคือการได้มาซึ่งสายดำ และคุณรู้สึกพอใจเพียงแค่นั้น ฝีมือของคุณจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในขณะที่ผู้ที่ฝึกหลังจากคุณอาจจะพัฒนาตัวเองจนแซงหน้าคุณไปในที่สุด
หลายคนที่ฝึกมาระยะหนึ่งอาจรู้สึกว่าได้พัฒนาตัวเองจนเกือบสุดทางแล้ว และเริ่มมองหาแหล่งความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก พวกเขาจะเดินทางไปฝึกบูจินกันที่ประเทศญี่ปุ่นกับอาจารย์ที่มีฝีมือสูงมากๆ เพื่อที่จะพัฒนาฝีมือของตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก ฟังดูแล้วเข้าท่าแต่ก็ยังไม่ถูกทั้ง 100%
ไม่ได้เก่งขึ้นจากการฝึกไม่กี่ครั้ง
เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยได้รับคำแนะนำจากผู้ฝึกอาวุโสท่านหนึ่งว่า การเดินทางมาญี่ปุ่นไม่ได้ทำให้ฝีมือเราดีขึ้น ฝีมือเราจะดีขึ้น ณ โรงฝึกที่เราฝึกประจำ การเดินทางมาที่ญี่ปุ่นเป็นเพียงการสร้างแรงบันดาลใจในการฝึกให้กับเรา คุณไม่สามารถเก่งขึ้นได้จากการฝึกในญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ครั้ง แต่คุณจะเก่งขึ้นได้หากคุณเข้าฝึกอย่างสม่ำเสมอที่โรงฝึกของคุณเอง
เก่งขึ้นที่โรงฝึกตัวเอง
การเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ผมมีโอกาสได้ฝึกกับ อ.มะซะอะกิ ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของ บูจินกัน และ อ.ชิระอิชิ ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์ของผมที่ประเทศไทย การฝึกแต่ละครั้งผมไม่สามารถทำตามอาจารย์ได้เลย ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่เดินทางมาฝึก หากคุณเข้าฝึกแล้วคุณรู้สึกว่าคุณเก่งเพราะคุณทำได้เหมือนอาจารย์ทุกอย่าง หรือบางครั้งคิดว่าคุณทำได้มากกว่าอาจารย์เสียอีก คุณคงต้องเข้าใจอะไรผิดเป็นแน่ ถ้าคุณไม่รีบปรับความคิดของคุณ การเดินทางมาญี่ปุ่นคร้ังนี้ของคุณจะต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย
ความรู้สึกที่เรา “ทำไม่ได้” ไม่ใช่ความรู้สึกที่ดี เพราะมันอาจทำให้เราท้อแท้และหมดกำลังใจ แต่ผมคิดว่านั่นเป็นความรู้สึกที่ทุกคนน่าจะรู้สึกเหมือนกัน อ.มะซะอะกิ คงเข้าในเรื่องนี้ดี ครั้งนึงท่านจึงได้กล่าวกับผู้เข้าฝึกว่า “หากคุณไม่สามารถเข้าใจหรือทำได้เหมือนอาจารย์ก็ไม่เป็นไร ขอให้คุณพยายามฝึกต่อไป แล้ววันหนึ่งคุณจะเข้าใจมันเอง”
ในการเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้มีสิ่งหนึ่งซึ่งย้ำความเชื่อเรื่องความสำคัญในการฝึกในโรงฝึกของตัวเองให้ชัดเข้าไปอีก ระหว่างที่ผมกำลังฝึกอย่างงงๆ ในโรงฝึกของ อ.ชิระอิชิ ท่านคงจะเห็นว่าผมงงมาก ท่านจึงได้เปรยขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “อาจารย์ของผมจะสอนผมได้” ผมคิดว่าท่านคงพยายามที่จะให้กำลังใจผมอยู่ ว่าถึงแม้วันนี้ผมจะไม่ได้อะไรกลับไป แต่อาจารย์ของผมจะสอนสิ่งที่ผมทำไม่ได้ในวันนี้ ขอให้ผมตั้งใจฝึกให้ดีเมื่อกลับไปยังประเทศไทย
แล้วมาญี่ปุ่นทำไม?
มาถึงตอนนี้คุณอาจมีคำถามว่าถ้าฝึกแล้วไม่เก่งขึ้นจะมาฝึกที่ญี่ปุ่นทำไม จริงๆแล้วการฝึกที่ญี่ปุ่นให้ในสิ่งที่เมืองไทยให้ผมไม่ได้ อย่างแรกเลยคือผมได้เห็นว่าผู้ฝึกระดับสูงฝึกกันอย่างไร การถูก control โดยไม่ใช้แรงเป็นอย่างไร และเมื่อถึงคราวที่ผมได้ทดสอบใช้เทคนิคนั้นกลับทำไม่ได้ ความรู้สึกนี้ทำให้ผมรู้ว่ายังต้องฝึกอีกเยอะ อาจารย์ของผมเคยบอกว่าผู้ฝึกบูจินกันนั้น เมื่อฝึกได้ระยะหนึ่งแล้ว ควรจะเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อ “เทน้ำออกจากแก้ว” หรือเพื่อลดการสำคัญผิดว่าเราเก่งแล้วลง การเดินทางมาญี่ปุ่นจะทำให้เรารู้ว่าฝีมือเรายังไม่เข้าขั้น เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เราฝึกให้มากยิ่งขึ้น
ข้อดีอีกอย่างของการมาฝึกที่ญี่ปุ่นจะเกี่ยวเนื่องกับสถานะของผู้ฝึก ผู้ฝึกบูจินกันไม่ใช่นักกีฬาแต่เป็นผู้สืบทอดวิชา ดังนั้นการฝึกแค่ทักษะการต่อสู้จึงไม่เพียงพอ ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี และแนวคิดต่างๆ เพื่อเข้าให้ถึงแก่นของวิชา การรับสืบทอดเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากนักและจะสามารถทำได้โดยการถ่ายทอดโดยตรงจากอาจารย์เท่านั้น
สรุปแล้ว…ทำไมต้องมาฝึกที่ญี่ปุ่น
กลับมาที่คำถามที่ว่า มาฝึกที่ญี่ปุ่นแล้วได้อะไร คำตอบจะขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่เดินทางมาฝึก ถ้าคุณต้องการมาอวดว่าคุณมีฝีมือ หรือต้องการมาถ่ายรูปเพื่อจะนำอวดให้ผู้อื่นทราบว่าคุณมาฝึกที่ญี่ปุ่นและรู้จักคนมากมาย สิ่งที่คุณได้กลับไปก็แค่ได้อวดหรือแค่ได้รูปถ่ายเหล่านั้น หากคุณเดินทางไปด้วยความคาดหวังว่าจะเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดด คุณอาจจะต้องผิดหวัง เพราะคุณคงไม่สามารถเก่งขึ้นมากจากการฝึกเพียงไม่กี่ครั้ง สำหรับผมแล้ว ผมออกเดินทางด้วยใจเป็นกลาง พร้อมที่จะรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น พร้อมที่จะดูว่า อาจารย์ระดับสูงเขาสอนอะไร ผู้ฝึกระดับสูงเขาฝึกกันอย่างไร ประพฤติตัวอย่างไร แน่นอนว่าผมต้องรู้สึกไม่ดีที่ทำไม่ได้อย่างที่คนอื่นเขาทำกัน และนั่นก็ทำให้ผมรู้ว่า ผมยังต้องฝึกอีกเยอะ ยังต้องขอคำชี้แนะจากอาจารย์ของผมที่ประเทศไทยต่อไป ญี่ปุ่นเป็นสถานที่เปิดโลกและสร้างแรงบันดาลใจ แต่การขัดเกลาฝีมือเริ่มที่โรงฝึกของเราเอง
ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
สายดำระดับ 5 ชิโดชิ บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ
โรงฝึกบูจินกัน โอนิ (หลักสี่) โดโจ