การเปลี่ยนแปลงนับหมื่น ก็ไม่ทำให้รู้สึกตระหนก

Posted by

“Ten Thousand Changes, No Surprise” คำกล่าวของ อ.มะซะอะกิ ฮัทซึมิ อาจารย์ใหญ่ของบูจินกัน ประโยคนี้เป็นประโยคที่ อ.มะซะอะกิ อาจารย์ใหญ่ของบูจินกัน ได้บอกกล่าวกับลูกศิษย์ในการสอน ประโยคนี้ถ้าแปลตรงตัว ก็จะหมายความว่า

“การเปลี่ยนแปลงนับหมื่น ก็ไม่ทำให้รู้สึกตระหนก”

ประโยคนี้ฟังดูแล้วยาก บางคนอาจสงสัยว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า ต้องเป็นยอดมนุษย์เท่านั้นถึงจะทำได้กระมัง อันที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ และเราก็ทำมันอยู่เป็นประจำ

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ

คนเรามักไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราได้พบเห็นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสภาพจากหลับไปเป็นตื่น จากเดินเป็นหยุดเดิน หรือการหายใจเข้าเป็นหายใจออก อย่างที่หลักไตรลักษณ์ข้อแรกในพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น “อนิจจัง” หรือ “ไม่เที่ยง” สิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงธรรมดาๆ เหล่านี้ไม่ทำให้เรารู้สึกตระหนก เพราะเราได้ทำมันอยู่เป็นประจำจนกระทั่งเราคุ้นเคยกับมัน และรู้สึกว่าอยู่กับมันแล้วปลอดภัย ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนานๆครั้ง เช่นการย้ายโรงเรียน ย้ายสถานที่ทำงาน หรือย้ายถิ่นฐาน จะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ หรือรู้สึกกลัวว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่คุ้นเคยกับมัน เมื่อมันเกิดขึ้น เราจึงไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลง (Henka: 変化) ในการฝึกบูจินกัน

ในการฝึกปกติของบูจินกัน จะมีการฝึกตามท่าหลักที่เรียกว่า Kata (型 หรือ 形) การฝึกลักษณะนี้จะมีรูปแบบให้ผู้ฝึกทำตามซ้ำๆเพื่อให้ร่างกายจดจำรูปแบบดังกล่าวไว้ หลังจากได้ฝึก Kata แล้ว มักจะมีการปรับเปลี่ยนท่าหลักไปเล็กน้อย โดยที่ยังคงแกนของท่าหลักนั้นไว้ เพื่อเป็นการฝึกใช้ท่าหลักนั้นในสถานการณ์ต่างๆ การปรับเปลี่ยนท่าหลักนั้นเรียกว่า Henka หรือ 変化 (ซึ่งในภาษาญี่ปุ่น คำว่า Hen หรือ 変 หมายถึงการเปลี่ยนแปลง และ ka หรือ 化 หมายถึง การทำอะไรขึ้นมาซักอย่าง)

การปรับเปลี่ยนมีได้หลายลักษณะ อาจเป็นการปรับเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดเช่นการให้คู่ฝึกของเราเปลี่ยนจากการชก เป็นการทุ่ม หรืออาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เช่น ปรับระยะระหว่างเรากับคู่ฝึก ปรับมุมของตัวเรากับคู่ฝึก เลือกตำแหน่งการวางเท้าหรือตำแหน่งของแขนที่ต่างออกไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เประสิทธิภาพของท่าหลักที่เราทำลดลง หรือบางครั้งอาจจะทำให้เราทำท่าหลักไม่ได้เลย ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนท่าหลักตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยที่ยังคงแกนของท่าหลักนั้นไว้

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนอาจทำได้โดยเปลี่ยนตัว Uke (คู่ฝึกผู้รับการกระทำ) หลายครั้งที่จะมีการเปลี่ยนคู่ระหว่างการฝีก จากคนตัวใหญ่เป็นคนตัวเล็ก จากคนตัวแข็งเป็นคนตัวอ่อน หรือจากคนที่เคลื่อนไหวเร็วเป็นคนที่เคลื่อนไหวช้า เพื่อให้ผู้ฝึกได้ทดลองและสังเกตผลของท่าหลักต่อลักษณะร่างกายหลายๆ แบบ นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราไม่ค่อยได้พบเห็นการฝึกสอนแบบตัวต่อตัวในบูจินกัน

สถานการณ์จริง

ในสถานการณ์จริง เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ไม่ประสงค์ดีที่เราอาจพบเจอจะมีลักษณะร่างกายแบบไหน เราไม่สามารถรู้ว่าเขาจะทำอะไรกับเรา (อาจเป็นการชก หรือเป็นการทุ่ม) เราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เรากระทำกับอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ผลเป็นอย่างไร สถานการณ์ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยฝึกมาอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก ความตื่นตระหนกนี่เองที่จะสร้างความผิดพลาด และความผิดพลาดก็จะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ ความสูญเสีย หรือแม้กระทั่งความตาย

ฝึกบูจินกันเพื่อให้คุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลง

อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อช่วงต้นของบทความนี้ ความตระหนก หรือความกลัว ไม่ได้เกิดจากความเปลี่ยนแปลง แต่เกิดจากความไม่คุ้นเคย การฝึกบูจินกันแต่ละครั้งจะช่วยให้เราคุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลง การฝึกแต่ละครั้งจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนท่าฝึกไปเรื่อยๆ และจะมีการการฝึกเพิ่ม Henka เข้าไปอยู่เป็นประจำ บางครั้งอาจเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ บางครั้งอาจมีการเปลี่ยนสถานการณ์ หรือบางครั้งอาจเป็นการเปลี่ยนคู่ฝึก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือในสถานการณ์จริงได้

ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ผู้ฝึกไม่ควรเน้นจดจำการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะถึงเราจะจำได้ทั้งหมด และทำทุกอย่างเหมือนที่ซ้อมมาอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ในสถานการณ์จริงก็จะอาจมีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม หากเราใช้วิธีจดจำอย่างเดียว เราจะกลายเป็นนักสะสมท่า (Kata Collector) ถึงแม้จะจำสถานการณ์ได้ถึง​ 1000 สถานการณ์ เราก็จะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ 1001 ได้

ในการฝึกแต่ละครั้ง ผู้ฝึกควรเน้นการสร้างความเข้าใจกับการฝึกแต่ละครั้ง และให้ร่างกายค่อยๆ จดจำความเคลื่อนไหวที่จะสามารถควบคุมคู่ฝึกของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกายจดจำได้ เมื่อเราคุ้นเคยกับท่าต่างๆในสถานการณ์ต่างๆ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องคิดว่าจะต้องทำอย่างไรในสถานการณ์จริง เราแค่ทำตามความรู้สึก ทำในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าปลอดภัย และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เท่านี้เราก็จะไม่รู้สึกตระหนก ถึงแม้ว่าจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงนับหมื่น

ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
สายดำระดับ 6
ชิโดชิ บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ
โรงฝึกบูจินกัน โอนิ (หลักสี่)  โดโจ