Dojo concept

ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเดินทางช่วงเช้า ๆ ในวันเสาร์อาทิตย์ อาจจะมีภาพนึงที่ได้เห็นค่อนข้างบ่อยก็คือคนญี่ปุ่นที่ขึ้นรถไฟพร้อมกับซองใส่อาวุธ เช่น ซองดาบ ซองใส่ธนูพร้อมกับลูกศร หรือ ซองใส่ไม้พลองขนาดต่าง ๆ  ซึ่งผู้ถืออุปกรณ์เหล่านี้อาจจะเห็นตั้งแต่เด็กประถม มัธยม หรือกระทั่งผู้สูงอายุ อย่างตัวอาจารย์เองปรกติอยู่ในโตเกียว ช่วงเช้าวันหยุดก็จะเดินทางออกนอกเมืองไปโรงฝึกตามสถานที่ต่าง ๆ จึงเห็นภาพแบบนี้อย่างชินตาและเป็นประจำ ซึ่งเวลามีลูกศิษย์เดินทางมาฝึกที่ญี่ปุ่นก็จะชี้ให้ดูว่านี่แหละคือแนวคิดจริง ๆ ของการใช้ชีวิตแบบ “บูโด”

แต่ไหนแต่ไรมาในบ้านเรามักเห็นการฝึกศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่นเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างพิเศษ​ ก็คือเหมือนมีพิธีกรรมที่มากมากตั้งแต่เริ่มเข้าฝึก หลายที่ของการเข้าฝึกต้องแลกไปด้วยอะไรที่มากมาย ตั้งแต่การซื้ออุปกรณ์ที่มักจะบังคับให้ซื้อไปพร้อมกับการสมัครเข้าฝึก การหาที่ฝึกที่วิชามีราคาแพง แต่การฝึกในญี่ปุ่นที่อาจารย์สัมผัสมานั้นค่อนข้างแตกต่างกันมาก

นอกจากสถานที่ฝึกโรงฝึกส่วนตัวของแต่ละสำนักหรือวิชานั้น ตามเขตหรือจังหวัดต่าง ๆ มักจะมีโรงฝึกศิลปะการต่อสู้(บุโดคัง)ของเขตที่จะเป็นสถานที่สาธารณะที่หลาย ๆ วิชามาใช้งานร่วมกันได้ โรงฝึกตามเขตนี้ปรกติแล้วคุณสามารถดูป้ายประกาศที่แปะไว้และติดต่อสอบถามเพื่อเข้าฝึกได้ทันที โดยค่าธรรมเนียมในการฝึกศิลปะการต่อสู้ตามบุโดคังเหล่านี้มักมีราคาที่ค่อนข้างถูกและการเข้าฝึกมักจะจ่ายเป็นรายครั้ง ซึ่งวิชาที่จะเข้าฝึกได้มีทั้งกีฬาการต่อสู้ที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น เช่น คาราเต้ ยูโด ไอคิโด เคนโด้ ธนูคิวโด้ และรวมไปถึงวิชาการต่อสู้โบราณหลาย ๆ สำนัก นี่ยังไม่รวมไปถึงชมรมศิลปะการต่อสู้ที่อยู่ตามโรงเรียนมัธยมอีกด้วย ดังนั้นเด็กญี่ปุ่นค่อนข้างมีโอกาสที่ดีเพื่อที่จะลองเข้าฝึกกีฬาและศิลปะการต่อสู้ได้ค่อนข้างหลากหลายเพื่อค้นหาตัวเอง และส่วนมากผู้ปกครองก็มักจะเป็นผู้สนับสนุนที่ดีเสียด้วย

การที่ได้รับการสนับสนุนจากรอบด้านในด้านการสอน ทำให้ผู้สอนศิลปะการต่อสู้ในญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ได้มีแนวคิดของการฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อเป็นธุรกิจ ส่วนมากแล้วมักจะเป็นผู้ทำงานตามบริษัทหรือที่เราเรียกกันว่า “ซารารี่แมน” กันตามปรกติ แต่พอนอกเวลางานแล้วถึงมาเช่าบุโดคังเพื่อสอนวิชาการต่อสู้ตามวิชาที่ตัวเองฝึกมา ดังนั้นข้อดีของการที่ไม่ต้องอาศัยศิลปะการต่อสู้เพื่อหาผลกำไรนั้นก็คือการที่สามารถทำโรงฝึกให้เป็นโรงฝึกได้อย่างสมบูรณ์ หรือไม่ต้องอาศัยเงินที่ได้จากลูกศิษย์ในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่ว่าลูกศิษย์จะมากหรือน้อยแค่ไหนก็สามารถสอนได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องไปเอาใจลูกศิษย์หรือผู้ปกครองเพื่อให้ได้มาเพื่อเงินที่จะไปใช้ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นสถานที่ขายคอร์สอีกด้วย

นอกจากนั้นในโรงฝึกศิลปะการต่อสู้โบราณญี่ปุ่นนั้น หลาย ๆ โรงฝึกจะมีแนวคิดที่เหมือนกันคือ เปิดรับทุกคนเข้ามาฝึกได้แต่จะไม่เหนี่ยวรั้งคนที่ต้องการจะออกไป โรงฝึกทุกที่นั้นคนมักจะเข้ามาฝึกเยอะตอนต้นแต่คนหลงเหลืออยู่มักจะน้อย แต่โรงฝึกก็จะไม่มีการเหนี่ยวรั้งคนที่ออกไปแล้ว เพราะในโรงฝึกศิลปะการต่อสู้โบราณนั้นมี tradition มาจากการที่ต้องนำคนไปสู่สงครามจึงมีแนวคิดที่จะหาคนที่สามารถเชื่อถือและเชื่อใจที่จะฝากชีวิตไว้ได้ รวมถึงเพื่อการสืบทอดแนวคิดและวิชาตามที่ได้รับถ่ายทอดกันมา สำหรับผู้ที่ไม่มีใจที่จะฝึกแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเหนี่ยวรั้งไว้เพราะจะสามารถหาข้ออ้างถึงข้อจำกัดที่จะไม่เข้าฝึกได้เยอะมาก อีกทางหนึ่งผู้ที่ความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎ หรือแนวทางของโรงฝึกได้ เมื่อมีการแจ้งเตือนแล้วแต่ไม่มีการแก้ไขก็ไม่มีประโยชน์ที่จะให้อยู่ในโรงฝึกต่อไป

ส่วนเรื่องของอายุของผู้ฝึกนั้นจะเห็นว่าคนไทยทั่วไปการฝึกศิลปะการต่อสู้มักจะถูกจำกัดในอายุหนุ่มสาวมาก ๆ ส่วนมาก เล่นกันอยู่ในระดับ นร. หรือ นศ. ทำให้พอเข้าทำงานกันก็เลิกฝึกกันไปซะเกือบหมด จะบอกว่าเป็นเพราะร่างกายไม่พร้อมก็ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาหลัก ๆ ก็เพราะไม่มีเวลา จะต้องไปทำงานเสียแล้ว ในทางกลับกันการฝึกบูโดจะมองว่าเวลาคุณอยู่ในวิถีแห่งการต่อสู้นั้นมันคือทุกเวลาทุกขณะ มีแนวคิดที่อยู่กับการพัฒนาตนเองและหาวิถีการเดินทางของชีวิตไปกับศิลปะการต่อสู้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าไป ๆ มา ๆ คนญี่ปุ่นส่วนมากที่ฝึกบูโดจะมีอายุมาก จริง ๆ แล้วคนเหล่านี้ก็คือคนที่ฝึกมาตั้งแต่หนุ่มสาวจนกระทั่งอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งขยับไม่ไหวนั่นแหละถึงจะเลิกฝึกกัน แน่นอนว่าทุกคนที่เข้าฝึกนั้นมีงานทำ มีครอบครัว มีภาระที่ต้องรับผิดชอบการฝึกนั้นก็จะไม่สามารถเข้าฝึกอย่างเข้มงวดสม่ำเสมอได้ทุก ๆ ครั้ง เพราะเป็นการยากที่คุณจะสามารถฝึกได้ 20 ปี โดยไม่มีการหยุดเลยสักครั้ง การเข้าฝึกในระยะยาวจริง ๆ จะเหมือนการใช้ชีวิตร่วมเข้าไปกับวิชาที่ฝึกมากกว่าที่จะคิดเข้าไปฝึกเพื่อต่อสู้ จนกลายเป็นการใช้ชีวิตร่วมกันกับวิชาการต่อสู้ของตัวเองตลอดเวลาและสมบูรณ์

โรงฝึกที่อาจารย์พยายามสร้างขึ้นนั้นก็ใช้ concept หลักข้างบนทั้งหลายมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นสร้างโรงฝึกเมื่อ 20 กว่าปีที่ก่อน เพราะต้องการสนับสนุนผู้ที่มีความสนใจในการฝึกจริงและการฝึกในระยะยาวไม่ฉาบฉวย

ตั้งแต่เรื่องราคา โดยตั้งแต่แรก ๆ ใช้แนววิธีคิดที่ว่าราคาในการฝึกเท่ากับตั๋วหนัง 1 ใบ โดยมีความหมายว่าถ้าคุณมีเงินพอดูหนังสักเรื่องหนึ่งคุณก็สามารถเข้าฝึกได้ ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นั้นเอาไว้ทีหลังเพราะเป็นเพียงเรื่องภายนอกกาย เช่น เรื่องภายนอกการฝึกอย่างชุดฝึกที่สามารถหาชุดลำลองมาฝึกก่อนได้ ส่วนอุปกรณ์มีให้ยืมและชี้สถานที่แต่ละจุดให้ไปจัดหาซื้อกันเองตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละคนได้

ค่าธรรมเนียมในการฝึกก็จะคิดเป็นรายครั้งเพื่อที่จะเอื้อให้ทุกคนสามารถเข้าฝึกได้ตามความสะดวกของแต่ละคน บางคนเดินทางมาจากตจว.เดือนละครั้ง บางคนเดือนทางมาตลอดไม่ได้เพราะเข้ากะเข้าเวรก็สามารถเข้าฝึกได้ตามสะดวก

เรื่องสถานที่ปัจจุบันยังมีการทำ บางกอก บูโด เซ็นเตอร์ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ต้องการสอนศิลปะการต่อสู้ ที่ทดแทนโรงฝึกตามเขตที่บ้านเราหาได้ยากมาก โดยตอนนี้ก็มีโดโจของลูกศิษย์ที่ทยอยกันเข้ามาใช้สอนวิชาตามช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้คนเรียนก็สามารถมีโอกาสได้เข้าฝึกในวันต่าง ๆ ได้หลากหลายขึ้นตามเวลาว่างของแต่ละคนอีกด้วย

เมื่อโดโจมีพร้อมทุกอย่างให้กับคนฝึกแล้ว ที่เหลืออยู่ก็คือฝั่งคนฝึก โดยเฉพาะคือเรื่องของหัวใจ (Kokoro) แบบเดียวกับที่ Steve jobs ว่าไว้ว่า “Stay Hungry Stay Foolish” ประโยคสุดท้ายที่ฝากทิ้งท้ายให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย Stanford ที่กำลังจะจบการศึกษา ว่าให้มีความรู้สึก “กระหาย” และ “ไม่รู้” ตลอดเวลา เพื่อจะได้คงความอยากเรียนรู้และปรับปรุงตัวเองตลอดไป

 

Bufu Ikkan “Follow the martial wind”!
Nijiryu