ปกติแล้วโรงฝึกของเราค่อนข้างผ่อนคลายพอสมควร และปกติแล้วผู้ฝึกของเราก็เป็นผู้ใหญ่กันพอที่จะรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ แต่หลัง ๆ มามีผู้เข้าใหม่จำนวนมากที่ยังไม่รุ้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ จนกลายเป็นทำเรื่องที่เสียมารยาทในโรงฝึกบ่อยครั้ง

“โดโจไม่ใช่ยิม” เป็นประโยคที่ขึ้นไว้ในเวปของโรงฝึกใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ตามความหมายแล้ว คำว่า “โด” มีความหมายถึงวิธีหรือแนวทาง ส่วน “โจ” มีความหมายถึงห้องโถงหรือสถานที่ขนาดใหญ่
ดังนั้นคำว่า “โดโจ” ถึงมีความหมายถึงสถานที่ ๆ ใช่ฝึกวิถีทางต่าง ๆ เช่น สถานที่สอนศิลปะโบราณ สอนพิธีชงชา และ มักใช้ในสถานสอนศิลปะการป้องกันตัวด้วย

ในโดโจนั้นจะถือว่าเป็นสถานที่สถิตของเทพในนิกายชินโต จึงเป็นสถานที่ศักดิสิทธิ์ของนักศิลปะการต่อสู้ โดยในโรงฝึกของญี่ปุ่นจะมีการตั้งคามิดะนะซึ่งหากแปลตรงตัวก็แปลว่าหิ้งของเทพเจ้า หากบ้านเราก็คงเรียกศาลบูชา สำหรับบูจินกันก่อนฝึกจะมีการกล่าวเพื่อชำระจิตใจ และ การปรบมือเพื่อบูชาเทพเจ้าในการฝึกอีกด้วย โดยการปรบมือสองครั้งแรกก็เพื่อ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายในโรงฝึกให้ออกไปให้เหมาะสมกับที่เทพเจ้าจะเข้ามา การคำนับครั้งแรกก็เพื่ออัญเชิญเทพเจ้ามาสถิต และคุ้มครองการฝึกที่จะเกิดขึ้น จากนั้นการปรบมืออีกครั้งก็เพื่อชำระจิตใจและจิตวิญญาณให้พร้อมในการฝึก จากนั้นคำนับอีกครั้งเพื่อทำความเคารพ

ในอดีตช่วงแรกสถานศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เปิดเป็นโรงเรียนสอนในแบบของปัจจุบัน แต่จะเป็นลักษณะการเรียนกับอาจารย์โดยตรง อาจจะใช้พื้นที่ว่างในที่พักอาศัยเป็นสถานที่เพื่อการฝึก ค่าฝึกในสมัยก่อนอาจจะไม่ได้ให้เป็นตัวเงิน แต่เป็นการออกแรงแทนเช่นการทำงานบ้าน การช่วยงานอาจารย์ในด้านต่าง ๆ  พออาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นก็จึงเปิดเป็นโรงฝึกที่แยกออกมาเป็นลักษณะโรงฝึก แต่ก็ยังมีลักษณะความผูกพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์อยู่อย่างแน่นแฟ้น อย่างคำว่า โซเกะ (soke) ที่มักพบตามศิลปะการต่อสู้โบราณนั้น นั้นหากแปลตรงตัวจะหมายถึงผู้นำหมู่บ้านหรือหัวหน้าครอบครัว ที่แสดงถึงลักษณะว่าผู้ฝึกนั้นเสมือนคนหนึ่งในครอบครัว จะต่างจากปัจจุบันที่วิชาสมัยใหม่จะเป็นลักษณะของประธานสมาคมแทน

ปัจจุบันสถานที่ฝึกสอนหลายชนิดเปลี่ยนรูปแบบจากโรงฝึกไปเป็นลักษณะที่มีแบบอย่างมาจากฝรั่ง และมองผู้ฝึกในฐานะลูกค้ามากกว่าลูกศิษย์แบบเดิม ๆ ลักษณะของสถานที่ฝึกสอนก็กลายเป็นเหมือนยิมสำหรับการออกกำลังกันเสียมากกว่า คือ เข้ามาชำระเงินเพื่อฝึกแล้วก็ฝึกหลังจากนั้นก็กลับบ้าน ต่างจากลักษณะการต่อสู้โบราณของญี่ปุ่นแต่ก่อน
แม้แต่ในโรงฝึกของบูจินกันในต่างประเทศเอง เนื่องจากลักษณะวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันก็เกิดลักษณะผู้ฝึกที่ไม่เข้าใจ ขนบธรรมเนียมการฝึกแบบญี่ปุ่นจำนวนมาก ในโดโจนั้นตัวผู้ฝึกเองก็เป็นผู้ที่ต้องมีส่วนร่วมในโรงฝึก อย่างเช่นในญี่ปุ่น หลังฝึกเสร็จบรรดาลูกศิษย์จะวิ่งเข้าหาไม้กวาด เพื่อที่จะทำความสะอาดโรงฝึกไม่ใช่เพียงจ่ายเงินแล้วกลับเลย
แต่อีกทางก็เห็นฝรั่งหลาย ๆ คนไม่สนใจกลับไปก่อนไม่มีแม้แต่การเคารพบรรดาอาจารย์ด้วยซ้ำทำเหมือนจ่ายเงินแลกวิชาซะมากกว่า
ในโรงฝึกของบูจินกันเวลาอาจารย์มาซึอะกิมาถึงบรรดาชิฮันญี่ปุ่นจะไปยืนต้อนรับและช่วยถือของ

ผมเองก็จะเห็นบรรดาชิฮันญี่ปุ่นที่ฝึกมาหลายสิบปีที่มายืนรอส่งอาจารย์มาซึอะกิ ถ้าอาจารย์ยังไม่กลับก็กลับไม่ได้ ในบ้านเราเองขนบธรรมเนียมของเราค่อนข้างคล้ายกับญี่ปุ่นในเรื่องนี้จึงไม่มีปัญหาเท่าไรนัก

ความจริงแล้วโดโจหรือโรงฝึกศิลปะการต่อสู้นั้นจะไม่มองว่าผู้ที่เข้ามาฝึกเป็นลูกค้า แต่จะมองความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ในลักษณะของครอบครัวเสียมากกว่า ผู้ฝึกใหม่จะต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สอน และ ผ่านการฝึกด้วยความตั้งใจให้ได้ ในลักษณะการฝึกนั้นจะเป็นแบบการถ่ายทอดผ่านการกระทำโดยไม่มีเงื่อนไข อย่างเช่นบางคนจะเคยได้ยินเรื่องของสำนักดาบที่ อาจารย์จะให้ศิษย์ฟันหุ่นไม้วันละเป็นพันครั้งหมื่นครั้งตลอดปีโดยไม่มีการให้ฝึกอย่างอื่นเลย หรือ เรื่องของนักดาบที่เข้าสำนักแต่ อาจารย์ไม่สอนอะไรเลยเป็นปี ๆ แถมยังเผลอไม่ได้จะถูกอาจารย์เอาดาบไม้ตีตลอดเวลา จนเวลาผ่านไปอาจารย์ไม่สามารถตีศิษย์ได้อีก ก็ถือว่าศิษย์ได้ฝึกวิชาจบสิ้นเพราะกลายเป็นผู้ที่ไม่มีใครสามารถเข้าทำร้ายได้

แต่ปัจจุบันอาจจะเนื่องด้วยเป็นสมัยใหม่แล้ว ผู้ฝึกใหม่สมัยนี้ไม่ได้มีความอดทนขนาดนั้น พอสั่งให้ทำบางครั้งยังไม่ทันทำก็ถามเสียก่อนแล้วว่าทำไมต้องทำ พอทำไปได้หน่อยก็เบื่อก็เลิกไปก่อนที่จะไปถึงจุดที่จะมีความเข้าใจ บางคนคิดว่าตัวเองทำได้แล้วก็เลิกทำเองเสียอย่างนั้น
ในระบบการฝึกการเรียนจริง ๆ แล้วนั้นคำสั่งของอาจารย์คือคำสั่งให้กระทำตามไม่ใช่จะทำอะไรตามใจตัว ไม่งั้นก็อย่ามาฝึกเสียดีกว่า

ในศิลปะการต่อสู้โบราณอย่างบูจินกันไม่ใช่วิชาที่ผู้ฝึกจะสามารถทำสิ่งที่สอนได้ทันทีแต่ยังต้องใช้เวลาเพื่อความเข้าใจ โดยแต่ละคนก็มีความเข้าใจที่ไม่เท่ากัน เหมือนที่โจโฉกล่าวว่า “นกน้อยใดเล่าจะเข้าใจถึงพญาเหยี่ยว” ผู้ฝึกใหม่มักไม่มีสายตา ที่ดีพอจะเข้าใจถึงสิ่งที่สอนอยู่ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ต้องการสอน หากใช้เวลาขัดเกลาก็จะเพิ่มพูนทักษะของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จะสามารถมองเห็นได้ แต่น่าเสียดายว่าสมัยนี้ผู้ฝึกมักไม่มีความอดทนขนาดนั้น ส่วนมากฝึกกันเพียงไม่กี่ครั้งก็โดนอีโก้ของตัวเองบดบัง  คิดว่าตนทำได้แล้วบ้าง หรือ คิดว่าไม่รู้เรื่องแล้วเลิกดีกว่าบ้าง ทำให้เปอร์เซ็นต์ผู้ฝึกใหม่ส่วนมากจะเลิกกันเกือบหมด
โดยเฉพาะพวกที่คิดว่าตนทำได้แล้วก็มักทำตัวเป็นพวกน้ำเต็มแก้วจนไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติมไปอย่างน่าเสียดาย

โดยเรื่องแบบนี้ผู้สอนไม่สามารถช่วยได้ เป็นเรื่องที่คนต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง หากไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าเป็นผู้เหมาะกับการฝึก
ผู้สอนเองก็ไม่สามารถถ่ายทอดวิชาออกไปได้ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

การฝึกศิลปะการต่อสู้แบบของบูจินกันเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ยังเป็นส่วนสำคัญในการฝึก เพราะในบูจินกันการฝึกนั้นถ่ายทอดออกมาด้วยความรู้สึก ความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงว่าทำท่าถูกแล้วจะถูกต้อง
ผู้สอนจะทำการพิจารณาผู้ฝึกว่าถึงระดับที่จะสามารถถ่ายทอดวิชาออกไปได้หรือไม่ โดยจะเป็นเรื่องของเฉพาะบุคคล และระดับในการถ่ายทอดไปที่แต่ละคนก็ไม่ได้เท่ากันโดยขึ้นกับความสามารถของศิษย์ในระดับนั้น ๆ ด้วย หากศิษย์ไม่สามารถทำให้ผู้สอนเชื่อมั่นว่าสามารถรับการถ่ายทอดได้ ทั้งในเรื่องของทักษะความสามารถ นิสัยใจคอ ความอดทน ความเชื่อใจ ก็จะไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชาในระดับต่อ ๆ ไปได้

ดังนั้นไม่แปลกอะไรที่ผู้ฝึกใหม่จะถูกเน้นที่การฝึกพื้นฐาน เสียมากกว่าเทคนิค โดยระหว่างนั้นก็จะถูกมองและตัดสินในทุก ๆ เรื่อง โดยใช้เวลานานพอสมควรก่อนที่จะได้รับการยอมรับเข้าสู่การฝึกที่จริงจังขึ้นไป และ อย่างที่บอกว่าน่าเสียดาย มีคนจำนวนน้อยที่ผ่านจุดนั้นไปได้ แต่ในบูจินกันสิ่งนั้นกลับไม่ใช่ปัญหา เพราะ อาจารย์มาซึอะกิเองก็เน้นย้ำไว้
เรื่องที่หาคนดีเข้ามาฝึกไม่ใช่เน้นที่จำนวน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าฝึกไม่ปิดกั้นได้โดยมีเงื่อนไขเดียวกันคือ ปฏิบัติตาม Bujinkan Guildline ได้ แต่หากเข้าฝึกแล้วอยู่ไม่ได้ก็ไม่เคยคิดที่จะรั้งไว้เช่นกัน