เนื่องจากมีคำถามเข้ามาบ่อย ๆ ว่า การฝึกของบูจินกันเป็นยังไงเพราะเป็นวิชาใหม่แล้วนึกภาพกันไม่ออก

อันดับแรกจะกล่าวถึงเรื่องก่อนการฝึกก่อน ชุดฝึกที่ใช้จะเป็นชุดฝึกแบบชุดคาราเต้สีดำ ไม่ใช่ชุดแบบที่ขายเป็นชุดนินจา เพราะชุดพวกนั้นส่วนมากจะผลิตมาให้คนเอาไว้ใส่แฟนซีมีคุณภาพต่ำ ส่วนชุดคาราเต้สีดำก็จะเหมือนชุดคาราเต้ทั่วไปทุกประการเพียงใช้ผ้าสีดำครับ สำหรับผู้ฝึกใหม่อนุโลมให้ใช้เสื้อยืด กางเกงวอร์ม (ไม่ให้ใส่กางเกงขาสั้น หรือ สามส่วน) จนกว่าจะมั่นใจว่าจะฝึกแล้วจริง ๆ ถึงค่อยซื้อชุดครับปกติบูจินกันที่ญี่ปุ่นก็จะทำกันแบบนี้ครับ เนื่องจากเราไม่ได้เห็นวิชาเป็นเครื่องมือธุรกิจ ก็จะเปิดรับคนเข้ามาฝึกหากคนไหนฝึกได้ แล้วรู้สึกชอบถึงค่อยสมัครสมาชิกและซื้อชุดต่อไปครับ ส่วนคนที่คิดว่าไม่สนใจก็จะได้ออกไปได้โดยไม่ต้องเสียดาย

ส่วนสายคาดของผู้ฝึกใช้ตามระดับขั้น คือ ในระดับกิ้ว(Kyu) ใช้สายสีเขียวสำหรับผู้ชาย และผู้หญิง ส่วนระดับดั้งใช้สายดำ ที่สายสีของผู้ฝึกมีน้อยมีความนัยอีกทางนึงคือผู้ฝึกบูจินกันจะไม่ค่อยสนใจเรื่องสาย เช่นในระดับกิ้วทั้งเก้าระดับจะใช้สีเดียวกันหมด ดังนั้นผู้เข้าฝึกใหม่หรือเก่าก็จะไม่มีการแบ่งแยกให้รู้ คนที่รู้ระดับของคนฝึกก็มีเพียงคนฝึกเองกับผู้ฝึกสอน

ปัจจุบันในแต่ละสัปดาห์โรงฝึกของเราจะมีสมาชิกเข้าร่วมฝึกระหว่าง 15-20 คน ขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาของปี ในช่วงสอบ ช่วงปิดเทอม หรือ ช่วงวันหยุดก็จะมีคนเข้าฝึกน้อย จะมีความแตกต่างกันไปในละช่วงเวลา
ผู้ฝึกของโรงฝึกส่วนใหญ่ประมาณ 80% ต่างก็ทำงานกันแล้ว มีจำนวนน้อยที่ยังเรียนในระดับอุดมศึกษา และจำนวนน้อยมากที่ยังเรียนระดับมัธยม อายุผู้ฝึกปัจจุบันมีตั้งแต่ 45 ปีลงมาจะเกาะกลุ่มในช่วง 20-30 ปี
และมีอายุต่ำกว่า 20 ปีอยู่จำนวนค่อนข้างน้อย

เมื่อมาถึงโรงฝึกแล้วเปลี่ยนชุดฝึกแล้วก่อนการฝึกก็ควรอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย เตรียมพร้อมก่อนการฝึกทุกครั้ง

จนถึงเวลาเริ่มต้นฝึกจะเข้ามารวมนั่ง กล่าวเคารพพร้อมกันแล้วเริ่มฝึก การฝึกเกือบทุกครั้งจะเริ่มจากอุเคมิ และ ไทเฮนจุสสุ เช่น การม้วนหน้า ม้วนหลัง ในหลาย ๆ แบบ โดยปกติแล้วจะใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณสามสิบนาที การฝึกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการฝึกเพื่อใช้ป้องกันการบาดเจ็บจากการฝึก ดังนั้นจึงไม่ควรเข้าฝึกสายจนไม่ได้ฝึก นอกไปจากนั้นสำหรับผู้เข้าฝึกใหม่ในระดับสายขาวจะมีการแยกฝึกเพื่อฝึกท่าพื้นฐานในชั่วโมงแรกที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายในการฝึกเริ่มต้น ดังนั้นผู้ฝึกใหม่ไม่ต้องกลัวว่าจะทำตามไม่ทัน

ครึ่งชม.ต่อมาจะเป็นการฝึกพื้นฐานของนินโป ไทจุสสุ จะใช้เวลาในชม.แรกจนหมด เช่น คิฮอน แฮปโป และ ซันชิน โน กาตา ซึ่งเป็นรากฐานของไทจุสสุ หรือ นินจุสสึ รวมทั้งการฝึกในส่วนของ เท็น ชิ จิน ริวคุ โน มากิ หรือ ตำรากลยุทธสวรรค์ พิภพ และ มนุษย์ ซึ่งรวมพื้นฐานของ บูโด ไทจุสสึ หรือ อีกชื่อคือนินโปไทจุสสุในสมัยก่อน เป็นสิ่งที่ผู้ฝึกจะต้องฝึกและรู้ทั้งหมดก่อน จะได้รับสายดำ ในบางประเทศใช้ตำรานี้เพื่อใช้ในการสอบสาย ในตำรานี้จะครอบคลุมเนื้อหาจำนวนมาก เช่นใช้ชีวิต การหายใจ การเดิน การม้วน การล้ม การตั้งท่า จุดอ่อน การเตะ การต่อย การทุ่ม การใช้อาวุธ การใช้อาวุธลับ และ อื่น ๆ ในการฝึกจะถูกดึงมาฝึกจำนวนหนึ่งในแต่ละสัปดาห์ นอกจากนั้นจะทำการฝึกการพลิกแพลง
จาก ท่าที่เป็นพื้นฐานต่อไป

ในชั่วโมงสุดท้ายในชั่วโมงนี้ผู้ฝึกใหม่จะกลับมารวมกันอีกครั้ง การฝึกส่วนมากจะเป็นการฝึกพลิกแพลงของท่าพื้นฐาน โดยจะมีการใช้ทั้งการฝึกมือเปล่า และ การใช้อาวุธ เช่น ดาบ มีด พลอง นอกจากนี้จะยังมีฝึกตามหัวข้อการฝึกของแต่ละปีของญี่ปุ่น เช่น การโฟกัสการฝึกไปที่ แต่ละริวย่อยของบูจินกัน  การฝึกส่วนมากในชั่วโมงหลังนี้จะไม่ซ้ำท่า เป็นการฝึกพลิงแพลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นในแต่ละอาทิตย์จะไม่เหมือนกัน

สำหรับคนที่มาฝึกใหม่บางคนอาจจะเห็นว่ายากเหลือเกินที่จะจำสิ่งที่ฝึกได้ทั้งหมด แต่ในความจริงแล้วหลายสิ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรีบจดจำ อาจารย์มาซึอะกิเคยกล่าวว่าอย่ามองไปที่ท่า แต่ให้เข้าใจถึงบูโด หรือ ศิลปะการต่อสู้ ในครั้งนึงผมเคยถามกับอาจารย์ชิราอิชิ ว่าจะทำยังไงเมื่อจำชื่อท่าไม่ได้ เพราะมีจำนวนมากเหลือเกินท่านตอบว่า ชื่อนั้นไม่จำเป็นแต่ขอให้เข้าใจถึงบูโด แล้วจะทำได้ทุกท่าเอง ชื่อท่าอาจจะสำคัญสำหรับนักสะสมท่าหรือนักวิจัยแต่คนรู้ชื่อท่าและทำท่าแบบท่องจำนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจท่านั้น ๆ เลย

อันนี้เป็นรายละเอียดคร่าว ๆ ของจากฝึกบูจินกัน บูโด ไทจุสสึ ในบางครั้งจะมีการฝึกอย่างอื่นอีกตามความเหมาะสม สำหรับผู้สนใจบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่า เราฝึกคนให้เป็นนินจาแบบที่เห็นในหนังภาพยนต์ ก็ต้องขอบอกว่าคงต้องเสียใจครับ ไม่เหมือนในหนังแน่นอน

อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนก็ยังอาจจะไม่เข้าใจในวิชาของบูจินกันเป็นอย่างไร จะมาขออธิบายและยกตัวอย่างให้ดูกันครับ หากคนไหนอ่านเวปไซด์โดยละเอียดแล้วจะทราบว่าในบูจินกัน บูโด ไทจุสสุนั้น ประกอบไปด้วยเก้าริว ซึ่งเป็นวิชานินจุสสุ สามริว และ วิชาการต่อสู้ของซามูไรอีกหกริว การฝึกของบูจินกันนั้นโดยพื้นฐานจะมาจากวิชาทั้งเก้าริวที่ว่ามา

ดังนั้นเราจึงไม่นิยมเรียกวิชาของบูจินกันว่าว่าเป็นการฝึกนินจุสสุ
เพราะนินจุสสุนั้นเป็นเพิ่งส่วนหนึ่งในวิชาของบูจินกันนั้นเอง
จริง ๆ แล้วในบูจินกันจะมีทั้งการฝึกทั้งในแบบของนินจุสสุ และ ซามูไร

เนื่องจากวิชาของบูจินกันนั้นมีเนื้อหาที่มาก ในแต่ละปีอาจารย์มาซึอะกิ
จึงจะเลือกหัวข้อการฝึกที่จะให้เป็นหัวข้อหลักในปีนั้น ๆ
ในปีที่ผ่าน ๆ มาได้ เช่น

* 2008 – Togakure-ryū Ninpō Taijutsu
* 2007 – Kukishin Ryu
* 2006 – Shinden Fudo Ryu
* 2005 – Gyokko-ryū Kosshijutsu และ โบ (พลองหกฟุด) Tachi (ทาชิ ดาบใหญ่)
* 2004 – Daishou Juutaijutsu (ไทจุสสุและการใช้ดาบคู่) และ Roppo-Kuji-no Biken
* 2003 – Juppo Sessho
* 2002 – Jutaijutsu (Takagi Yoshin Ryu)
* 2001 – Kosshijutsu (Gyokko Ryu)
* 2000 – Koppojutsu (Koto Ryu)
* 1999 – Kukishinden Ryu
* 1998 – Shinden Fudo Ryu
* 1997 – โจ (พลองสี่ฟุต)
* 1996 – ดาบ
* 1995 – นากินาตะ (ง้าวญี่ปุ่น)
* 1994 – ยาริ (หอกญี่ปุ่น)
* 1993 – โบ (พลองหกฟุต)
* 1992 – ไทจุสสุ
* 1991 – ดาบ และ จุตเตะ
* 1990 – ฮันโบ (พลองสามฟุต)
* 1989 – ไทจุสสุ และ อาวุธ
* 1988 – ไทจุสสุ

จะเห็นได้ว่าในสมัยก่อนที่ผู้คนยังไม่รู้จักวิชาไทจุสสุ มักจะเน้นไปที่การวางรากฐานของไทจุสสุ และ เพิ่มการใช้อาวุธต่าง ๆ เข้าไป ในภายหลังจึงได้แยกการฝึกตามริวต่าง ๆ ซึ่งจะมีเทคนิคที่ต่างกันไปทั้งด้านมือเปล่าและอาวุธ

โดยปกติแล้วการฝึกทั่ว ๆ ไปจะประกอบด้วยการฝึกไทจุสสุ และ การใช้อาวุธซึ่งเปลี่ยน ๆ กันไปตามสัปดาห์ นอกจากนี้จะฝึกเพิ่มตามหัวข้อการฝึกประจำปีอีกด้วย