อยากเรียนต้องทำอย่างไรบ้าง
– ทำความเข้าใจกับ Bujinkan Guidelines , เช็ควันและเวลาฝึกจากหน้าตารางฝึก เข้าสมัครและฝึกในวันและเวลาดังกล่าว

จะเข้าฝึกต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
– หากมีความตั้งใจที่จะฝึก เตรียมชุดฝึก(ชุดลำลอง)ให้พร้อมแล้วมาที่โรงฝึกได้เลย นำรูปถ่ายติดบัตรมาด้วยหนึ่งรูปเพื่อติดใบสมัคร

ทำไมถึงไม่จัดเตรียมชุดฝึกให้เหมือนวิชาอื่น ๆ
– ความจริงแล้วปกติในต่างประเทศ ทางโรงฝึกหรือผู้สอนก็ไม่มีหน้าที่ ๆ จะจัดหาชุดฝึกหรืออุปกรณ์ให้ผู้ฝึกอยู่แล้ว เพราะ แต่ละคนสามารถซื้อชุดฝึกได้หลายยี่ห้อตามที่ตนพอใจ แต่โรงฝึกศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ในเมืองไทยโดยมากจะจัดเตรียมให้ผู้ฝึกเพื่อความสะดวก แต่ทว่าก็มักบวกกำไรลงไป หรือ ทำเป็นแพ็คเกจสำหรับผู้ฝึกใหม่ แต่เนื่องจากโรงฝึกนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อหวังผลทางธุรกิจจึงให้ผู้ฝึกจัดหาซื้อชุดและอุปกรณ์ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามทางโรงฝึกสามารถแนะนำสถานที่ซื้อชุดและอุปกรณ์ให้ได้

คนฝึกมีจำนวนมากไหม เด็กเยอะไหม 
– โดยทั่วไปแล้วมีผู้ฝึกแต่ละอาทิตย์ละประมาณ 20 คนขึ้นไป
ผู้ฝึกส่วนมากของบูจินกันจะเป็นผู้ที่ทำงานแล้วและนักศึกษาระดับอุดมศึกษา มากกว่าเป็นเด็ก ๆ ซึ่งอาจจะต่างกับศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ

สนใจฝึกแต่อายุสามสิบแล้วจะฝึกได้ไหม
– ได้ ผู้ฝึกบูจินกันส่วนมากโดยเฉลี่ยอายุจะอยู่ที่ 20-30 ปี ในต่างประเทศอายุเฉลี่ยมากกว่าสามสิบปี ความจริงแล้วไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถฝึกได้

น้ำหนักมากจะฝึกได้ไหม
– ได้ เรื่องน้ำหนักไม่มีผลใด ๆ กับการฝึก

จะฝึกแต่อาวุธอย่างเดียวได้ไหม
– ไม่ได้ สำหรับบูจินกันทุกอย่างจะเริ่มมาจากไทจุสสึ ผู้ฝึกจะต้องเข้าใจถึงไทจุสสึ แล้วถึงนำมาใช้กับอาวุธ การฝึกอาวุธจะประกอบอยู่ในการฝึกตามปกติ

ทำไมถึงจำกัดอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี
– เพื่อความเหมาะสมด้านวัยวุฒิของผู้ฝึก และ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ฝึกเอง โดยผู้ฝึกที่อายุระหว่างสิบห้าปีถึงสิบแปดปีจะต้องได้รับอนุญาติจากผู้ปกครองก่อนเข้าฝึก

อายุสิบสี่แล้วเหลืออีกปีหนึ่งจะขอฝึกก่อนได้เลยไหม
– รับเฉพาะผู้อายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ไม่มีข้อยกเว้น
หากผู้ต้องการเข้าฝึกรักษากฏขั้นต้นต้องแต่ก่อนฝึกไม่ได้ ก็คงไม่สามารถรักษากฏระเบียบหลังเข้าฝึกได้

อายุไม่ถึงทำอย่างไรดี
– หากอายุไม่ถึงสามารถหาเรียนและฝึกวิชาอื่น ๆ ไปก่อน วิชาอะไรก็ได้
จากสถิติที่มีค่อนข้างบ่งชี้ได้ว่า หากมีพื้นฐานจากวิชาอื่นมาบ้าง จะทำให้ผู้ฝึกสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยฝึกอะไรมาเลย

ผู้หญิงสามารถฝึกได้ไหม
– ได้ ปัจจุบันในต่างประเทศมีผู้ฝึกที่เป็นสุภาพสตรีจำนวนมาก ในการฝึกไม่มีการแบ่งแยกหญิงชาย

มีการแข่งขันไหม
– ไม่มี บูจินกันจัดเป็นศิลปะการต่อสู้โบราณชนิดหนึ่ง ไม่มีการแข่งขัน

ต้องการฝึกส่วนตัวจะได้ไหม
– โรงฝึกบุจินกัน ประเทศไทย ไม่เปิดสอนการฝึกแบบส่วนตัว และไม่แนะนำให้ฝึกส่วนตัว เนื่องจากผู้ฝึกจะไม่ได้สลับคู่ฝึกซ้อมกับผู้ฝึกอื่น ๆ จะทำให้ขาดประสบการณ์และสังคมกับผู้อื่น ๆ ไป  การฝึกร่วมในโรงฝึกจะทำให้พบกับผู้ฝึกอื่น ๆ ที่สรีระร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกันจะทำให้ผู้ฝึกได้รับประสบการณ์ดีกว่า นอกจากนี้การฝึกส่วนตัวหากเป็นระยะสั้น ๆ แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

มีการสอนระยะสั้น หรือเป็นคอร์สสั้น ๆ ไหม
– ทางโรงฝึกไม่มีแนวคิดที่จะเปิดคอร์สระยะสั้น เนื่องจากจะทำได้แค่การฝึกพื้นฐานอย่างผิวเผิน ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เลย
จากที่พบผ่าน ๆ มากว่าที่จะเข้าใจพื้นฐานผู้ฝึกโดยมากใช้เวลากว่าปี

ที่ฝึกสอนไกล มีที่ฝึกสอนอื่น ๆ อีกไหม
– หากอยู่ในต่างจังหวัดปัจจุบันโรงฝึกเปิดกลุ่มย่อยสามารถเข้าดูได้ในหน้า กลุ่มฝึกอื่น ๆ และ ในอนาคตน่าจะมีการเพิ่มสถานที่ฝึกสอนออกไปอีก หากคุณอยู่ในกรุงเทพหรือปริมณฑลโรงฝึกคงไม่ไกลจนเกินไป เนื่องจากผู้ฝึกหลาย ๆ คนก็เดินทางกว่าสอง-สามชั่วโมงเพื่อมาฝึกได้
ปัจจุบันเรามีผู้ผู้ฝึกที่เข้าฝึกประจำทุกสัปดาห์โดยมาจากอยุธยา สมุทรปราการ ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ที่เป็นแบบอย่างได้ดี
ผู้ฝึกของเราบางท่านก็อยู่ต่างจังหวัดไกลมาก ๆ อย่างพิษณุโลก แพร่ ก็ยังเดินทางมาฝึกเดือนหรือสองเดือนต่อครั้ง

มีลำดับสายยังไงบ้าง
– สำหรับบูจินกันมีระดับก่อนสายดำ 9 ขั้น เรียกว่าระดับ Kyu (คิว หรือ กิ้ว)
ระดับสายดำ 10 ขั้น เรียกว่าระดับ Dan (ดัน หรือ ดั้ง)
ในสายดำขั้นสิบจะแยกย่อยเป็น ชิ, ซุย, คะ, ฟุ, คุ
หรือ บางทีจะเรียกระดับสายดำขั้นสิบเอ็ด ถึง สิบห้า ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด

นานแค่ไหนถึงจะได้สายดำ
– ปกติต้องฝึกไม่ต่ำกว่าสองปีถึงจะพิจารณาที่จะได้รับสายดำได้ หรือ ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้สอน การเลื่อนชั้น ไม่มีการสอบ จึงต่างจากวิชาอื่น ๆ
เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ผู้ฝึกบางคนที่เข้าฝึกถึงแม้เวลาไม่นานอาจจะมีพัฒนาการที่รวดเร็วกว่าผู้ฝึกที่ฝึกเป็นเวลานานแต่ไม่ตั้งใจก็ได้

เคยฝึกวิชาอื่น ๆ มาจะเทียบสายเลยได้ไหม
– ไม่ได้ บูจินกันเป็นศิลปะการต่อสู้โบราณที่เป็นเอกเทศ ไม่สามารถเทียบสายกับวิชาอื่นใด ๆ ได้ จริง ๆ แล้วผู้ที่ฝึกศิลปะการต่อสู้ไม่ควรจะคิดถึงแต่เพียงแค่ลำดับสาย ถ้าคิดว่าจะมาฝึกเพราะอยากได้สายของวิชาใด ๆ ก็เสียเวลาเปล่าแล้ว ศิลปะการต่อสู้แต่ละชนิดย่อมมีมุมมองและแนวคิดที่แตกต่างกันไป แม้แต่วิชาเดียวกันหากสำนักหรือริวต่างกันการเรียนการสอนก็แตกต่างกัน คนฝึกวิชาอื่น ๆ มาไม่ว่านานเท่าใดก็ไม่ได้หมายความว่าจะฝึกวิชาใหม่ได้ดีกว่าคนที่เริ่มฝึกใหม่เลย การได้สายโดยไม่มีความรู้ก็เป็นเพียงแค่คนที่นำสายมาคาดเป็นแค่เครื่องประดับเท่านั้นเอง

การสอบสายเป็นอย่างไร
– โดยปกติระบบของบูจินกันที่ญี่ปุ่นไม่มีการสอบสาย การเลื่อนลำดับขั้นอยู่ในดุลยพินิจของผู้สอน โดยดูจากความสามารถของผู้ฝึก แต่ในบางประเทศบางโรงฝึกก็คิดระบบของตัวเองเพื่อการสอบสายขึ้นมา สำหรับโรงฝึกของเราใช้ตามแบบของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อดีคือการให้สายตามพัฒนาการของผู้ฝึกจริง ๆ ไม่ใช่แค่การเข้าเรียนให้จำนวนชั่วโมงเยอะ ๆ หรือ จำท่ามาสอบ แต่จะต้องเข้าใจการฝึกจริง รวมทั้งมีการพิจารณาเรื่องความประพฤติภายในและภายนอกโรงฝึกร่วมด้วย ดังนั้นการพิจารณาเลื่อนสายจะมีขึ้นตั้งแต่ผู้ฝึกเดินเข้ามาในโรงฝึกจนเลิกฝึก ทุก ๆ วัน ทุกนาทีไม่ว่าการซ้อมท่าไหน ๆ ผู้ฝึกก็ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถ และพัฒนาการของตน

มีการฝึกใช้อาวุธอะไรบ้าง
– อาวุธที่ฝึกใช้ตามปกติคือดาบ, พลองหลาย ๆ ขนาด, ชูริเคน, แทนโตะ,คุไน นอกเหนือจากนี้จะจัดฝึกตามเหมาะสม

ต้องอยู่ระดับไหนถึงสามารถฝึกอาวุธได้
– หากไม่มีการฝึกอาวุธย่อมไม่ใช่การฝึกนินจุสสุ การฝึกการใช้อาวุธจะฝึกควบคู่ไปกับการต่อสู้มือเปล่า ตั้งแต่ผู้ฝึกระดับต้นและจำเป็นต้องฝึก ไม่มีการแบ่งขั้นที่จะฝึกอาวุธแต่ละชนิด จะต้องฝึกทักษะของไทจุสสึและการใช้อาวุธต่าง ๆ ควบคู่กันไป

ไม่มีเวลามาฝึกทำอย่างไรดี
– จัดเวลาของตนให้เหมาะสม การฝึกนินจุสสุมีความหมายเพียงอย่างเดียวคือ ฝึก ฝึก ฝึก แล้วฝึก ไม่มีทางลัดสำหรับผู้ฝึกไม่ว่าจะคนไหน
การแบ่งเวลาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ฝึกจะต้องจัดสรรค์ด้วยตัวเอง หากผู้ฝึกสามารถนั่งดูหนังหรือละคร มีเวลาไปเที่ยวได้มากกว่าสองชั่วโมง ก็หมายถึงผู้ฝึกมีเวลาเพียงพอที่จะเข้าฝึกแล้ว

อยากฝึกแต่ไม่กล้ามาทำอย่างไรดี / ไม่มีเพื่อนมาด้วยทำยังไงดี
– เป็นคำถามที่ไม่คิดว่าจะได้พบมาก แต่ได้รับมาบ่อยจริง ๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่อายุน้อยคำตอบเดียวที่จะได้รับคืออยากฝึกก็มาฝึกเถอะครับ
ถ้ามัวแต่อยากอยู่ก็ได้แค่อยากเท่านั้น การจะทำอะไรมันก็ต้องเริ่มจากก้าวที่หนึ่ง ไม่มีใครสามารถข้ามก้าวนี้ได้ครับ

ลำบากเรื่องเงินทำอย่างไรดี
– ปกติที่นี่ก็เก็บถูกมากอยู่แล้ว และ ไม่ได้ขึ้นราคามากว่าสิบปีแล้ว หลายคนอาจจะเคยชินกับการฝึกวิชาฟรี ๆ ในเมืองไทยในสมัยก่อน แต่จริง ๆ แล้วเป็นระบบที่ทำยากมากหากเป็นโรงฝึกที่ไม่ได้มีการสนับสนุนจากทางการ เพราะ ต้องมีรายจ่ายในการฝึก แต่โดยมากมักพบเห็นได้ว่าจะเป็นสถานที่ฟรี หรือ มีการช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ จากทางรัฐ หรือ สมาคมใหญ่ แต่โรงฝึกนี้เป็นโรงฝึกส่วนตัวที่ไม่ได้มีการสนับสนุนจากใครหรือองค์กรใด ๆ  ทั้งสิ้นจึงจำเป็นต้องมีการเก็บค่าฝึก เพื่อนำมาใช้เป็นค่าสนับสนุนการฝึกทั้งหลาย เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ ซึ่งเราให้ผู้ฝึกใช้กัน

เคยฝึกบูจินกันจากต่างประเทศมาก่อน อยากจะฝึกต่อต้องทำอย่างไรบ้าง
– ในกรณีที่เคยฝึกจากที่อื่น ๆ มาก่อน ทางโรงฝึกยินดีรับผู้ฝึกเข้าฝึกต่อในระดับของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามผู้ฝึกใหม่จะถูกตรวจสอบก่อนโดยจะต้องนำบัตรสมาชิกและใบประกาศนียบัตรจากโรงฝึกเก่ามาแสดง
ทางโรงฝึกจะติดต่อไปทางโรงฝึกเก่าเพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกโรงฝึกอีกทีหนึ่ง  อนึ่ง ทางผู้ฝึกใหม่จะต้องทราบว่าการฝึกในแต่ละสถานที่จะมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะหากมาจากทางฝั่งอเมริกาหรือยุโรป
วิธีการฝึกมักจะมีรูปแบบแตกต่างกันกับฝั่งญี่ปุ่น
มีข้อสงสัยอื่น ๆ สอบถามได้ที่หน้า ติดต่อ