ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประวัติอันยาวนาน อีกทั้งชื่อเรียกแต่ละยุคก็ยังเป็นภาษาที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย ทำให้การอ่านบทความต่างๆ (ถึงแม้จะเป็นบทความภาษาไทย) เป็นไปได้ยาก วันนี้ผมจะได้สรุปช่วงเวลาต่างๆในประเทศญี่ปุ่นมาให้ฟังกัน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจะนำเอาประวัติศาสตร์ในส่วนต่างๆของโลกนี้มาเทียบเคียงให้ฟังด้วย
ยุคโจมอน (Jomon)— 14,000 ก่อนคริสกาล ถึง 300-400 ปีก่อนคริสกาล
ยุคโจมอนเป็นยุคหินโบราณ ในขณะนั้น มนุษย์เรายังเป็นนักล่า นักหาของป่า ต่อมามนุษย์เราก็เริ่มทำกสิกรรม เริ่มสร้างเครื่องปั้นดินเผา มีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ยุคนี้สิ้นสุดเมื่อประมาณ 300-400 ปีก่อนคริสตกาล
ยุคยาโยอิ (Yayoi) — 300 ปีก่อนคริสกาลถึง ค.ศ. 250
ผู้คนในยุคนี้เริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น เริ่มมีการเขียนบันทึก เริ่มมีการใช้เหล็ก ใช้ทองแดง มีการแบ่งชั้นการปกครอง มีการบวงสรวงเทพยดา ศาสนาชินโตได้เข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคนี้เอง ยุคนี้สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 250 ซึ่งเป็นเวลา 30 ปี หลังจากประเทศจีนได้แตกเป็น 3 ก๊ก
ยุคโคฟุน (Kofun) — ค.ศ. 250 ถึง ค.ศ. 583
ตระกูลใหญ่ๆเริ่มมีการรวมตัวกัน เร่ิมมีการจัดตั้งกองกำลัง มีการตั้งจักรพรรดิขึ้นเป็นครั้งแรก ในปลายยุคนี้ญี่ปุ่นเริ่มส่งเครื่องบรรณาการไปให้แก่จีน และมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเกาหลี ในโลกตะวันตกยุคนี้จะตรงกับช่วงที่อาณาจักรโรมันกำลังเรืองอำนาจ
ยุคอะสุกะ (Asuka) — ค.ศ. 583 ถึง ค.ศ. 710
ยุคนี้เป็นยุคที่ศาสนาพุทธได้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นๆผู้ที่นับถือศาสนาพุทธจะมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้น ต่อมาเจ้าชายโชะโทะคุ (Shotoku) ได้พยายามเผยแพร่ศาสนาพุทธ วัฒนธรรมจีน และนำความสงบสุขมาสู่ญี่ปุ่นในยุคนี้อาณาจักรโรมันเริ่มเสื่อม และอำนาจการปกครองกำลังจะถูกถ่ายไปยังศาสนจักร
ยุคนารา (Nara) — ค.ศ. 710 ถึง ค.ศ. 794
ยุคเริ่มต้นเมื่อมีการตั้งเมืองหลวงแห่งแรกของญี่ปุ่นขึ้นที่เมือง Nara ในปี ค.ศ. 710 ยุคนี้ตรงกับช่วงราชวงศ์ถังในประเทศจีน เมือง นารา จึงถูกสร้างขึ้นโดยใช้เมือง ฉางอาน (หรือซีอานในปัจจุบัน) เป็นต้นแบบ พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนี้ Nara จึงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญหลายแห่ง ถ้าใครได้ไปเมือง Nara ก็จะได้เห็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่มาก (ไดบูสึ) อยู่ที่นี่
ยุคเฮอัน (Heian) — ค.ศ.794 ถึง 1185
ต่อมาในปี 794 ก็ได้มีการย้ายเมืองหลวงไปที่เมือง เฮอันเคียว หรือเมืองเกียวโตในปัจจุบัน เกียวโตได้เป็นเมืองหลวงต่อเนื่องเป็นเวลานานมากๆ จนกระทั่งมีการย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองโตเกียวในยุคเอะโดะ ตระกูลที่มีความสำคัญมากๆในยุคเฮอัน ได้แก่ตระกูล ฟูจิวะระ ซึ่งได้มีการแต่งงานเข้ากับเชื้อพระวงศ์ และได้เข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองการทหารอย่างเต็มรูปแบบในท้ายที่สุด จักรพรรดิหลายๆพระองค์ในยุคนี้ก็เกิดกับมารดาในตระกูล ฟูจิวารา
ในยุคเฮอัน มีการทำสงครามระหว่างตระกูลใหญ่ๆ หลายตระกูล สี่ตระกูลที่ใหญ่ๆที่สุดได้แต่ ตระกูลฟูจิวะระ ตระกูลมินะโมะโตะ ตระกูลไทระ และตระกูลทะจิบะนะ ในช่วงปี 1185 ได้เกิดมหาสงคราม เกมเป (Gempei War) ขึ้นระหว่างตระกูล มินะโมโตะ และตระกูล ไทระ ซึ่งตระกูลมินะโมโตะก็ได้ชนะสงครามครั้งนั้น จากสงครามครั้งนั้น โยริโตะโมะ แห่งตระกูลมินะโมะโตะ ก็ได้รับตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาลหลายตำแหน่ง โยริโตะโมะ ได้เติบโตทางการทหารอย่างมากจนได้รับรับตำแหน่งโชกุนเป็นคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ท้ายที่สุด โยริโตะโมะ ก็ได้ปราบตระกูล ฟูจิวะระ ลง และเข้ายึดอำนาจแทน
ญี่ปุ่นยุคกลาง — ค.ศ.1185 ถึง 1600
ประเทศญี่ปุ่นในยุคนี้ จะถูกปกครองโดยรัฐบาลท้องถิ่นย่อยๆ โดยมี ไดเมียว เป็นผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น แต่ละรัฐบาลก็มีกองทัพซามูไรเป็นของตนเอง แม้จักรพรรดิจะมีอำนาจปกครองไดเมียวแต่ก็เป็นเพียงเชิงนิตินัย ในทางปฏิบัติจักพรรดิก็จะมีหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ และมีหน้าที่ทางศาสนาเท่านั้น และการปกครองจะตกอยู่กับโชกุน ไดเมียว และชนชั้นนักรบ (ซึ่งเรียกว่า “บูชิ” (Bushi)) เป็นหลัก
ยุคคะมะคุระ (Kamakura) — ค.ศ.1185 ถึง 1333
หลังจาก โยะริโมะโตะ ได้รับแต่งตั้งเป็นโชกุน เขาก็ย้ายไปตั้งหลักที่เมือง คะมะคุระ มีระบบการปกครองของตัวเองแยกจากรัฐบาลกลางของจักรพรรดิ ยุคคะมะคุระสิ้นสุดลงหลังจากการปฏิวัติเค็มมู (Kemmu Restoration) ในปี 1333 ซึ่งทหารเอกของจักรพรรดิ โกะไดโกะ (Godaigo) 4 คน ได้นำทัพไปปราบโชกุนคะมะคุระลง ยุค คะมะคุระ กินเวลายาวนานถึง 700 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบราชวงศ์สุโขทัยของเรา
ยุคมุโระมะฉิ (Muromachi) — ค.ศ.1333 ถึง 1573
หลังจากที่ทหารเอกทั้งสี่ได้ปราบโชกุน คะมะคุระ ลงแล้ว จักรพรรดิ โกะไดโกะ ก็ปกครองญี่ปุ่นจากปราสาทในเมืองเกียวโต แต่จักรพรรดิ โกะไดโกะ นั้นเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ทำให้เหล่าขุนพลเอาใจออกห่าง อะชิคะกะ (Ashikaga) หนึ่งในสี่ทหารเอก ไม่ต่างกัน ท้ายที่สุด อะชิคะกะ ก็ทนไม่ได้จนต้องขอย้ายไปอยู่ในเมือง คะมะคุระ แต่ก็ยังเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลของจักรพรรดิเรื่อยมา นอกจาก อะชิคะกะ แล้ว ไดเมียวจากแคว้นต่างๆรู้สึกไม่พอใจ และไดเมียวท่านต่างๆ ได้รวมตัวกันสนับสนุน อะชิคะกะ ให้นำทัพไปปราบจักรพรรดิ โกะไดโกะ ท้ายที่สุด อะชิคะกะ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นโชกุน
ยุคเซ็งโกะคุ (Senkoku) — ค.ศ.1467 ถึง 1573
ช่วงปลายของยุคมะโระมะฉิ มักจะถูกเรียกว่ายุค เซ็งโกะคุ ซึ่งเป็นยุคที่มีการรบกันอย่างหนักหน่วง ทั้งในและนอกประเทศ ยุคนี้โปรตุเกส ได้เริ่มนำอาวุธปีนเข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น ทำให้รูปแบบการรบมีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
ยุคอะซึชิ โมะโมะยะมะ (Azuchi-Momoyama) — ค.ศ.1573 ถึง 1603
ปลายยุคสงคราวเซ็นโกคุ ยุคนี้เป็นยุคของนักรบผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งนามว่า โอะดะ โนะบุนะกะ (Oda Nobunaga) เสียชีวิต ซึ่งหากไม่เสียชีวิตคงจะสามารถรวมประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งได้ แต่สิ่งที่ โนะบุนะกะ ทำไว้ก็ทำให้ขุนพลเอกของเขาที่ชื่อ โทะโยะโทะมิ ฮิเดะโยะชิ (Toyotomi Hideyoshi) รวมประเทศญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งได้ ยุคอะซึชิ โมะโมะยะมะ สิ้นสุดลงพร้อม ๆ กับช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าเป็นคร้ังแรก
ยุคเอะโดะ (Edo) — ค.ศ.1603 ถึง 1868
หลังจาก โทะโยะโทะมิ ได้เสียชีวิตไป ผู้ปกครองผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า โทะกุคะวะ อิเอยะสุ (Togukawa Ieyasu) ก็ขึ้นสู่อำนาจโดยย้ายเมืองหลวงไว้ที่เมืองเอะโดะ ซึ่งก็คือโตเกียวในปัจจุบัน ตระกูลโทะกุคะวะได้ปกครองญี่ปุ่นยาวนานต่อเนื่อง ทำให้ยุคเอะโดะมีอีกชื่อหนึ่งว่า ยุคโทะกุคะวะ ความสงบในญี่ปุ่นในยุคนี้ที่ให้ญี่ปุ่นมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมหลายๆอย่างเช่น มีการแบ่งชนออกเป็นสี่เหล่า ได้แก่ ซามูไร ชาวนา ช่างฝึมือ และพ่อค้า ยุคเอะโดะรุ่งเรืองอยู่ถึง 265 ปี กินเวลาตั้งแต่ช่วงอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นของประเทศไทย
ยุคเมจิ (Meiji) — ค.ศ.1868 ถึง 1912
ยุคนี้ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นยุคที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตกกำลังเรืองอำนาจ และพยายามหาเหตุผลต่างๆนานาเพื่อเข้ายึดประเทศแถบตะวันออก
ญี่ปุ่นถูกบังคับให้เซ็นต์สนธิสัญญาที่เสียเปรียบและน่าอับอายต่างๆนานา โชกุน โทะกุคะวะ ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งและคืนอำนาจให้แก่ จักรพรรดิ (ซึ่งในขณะนั้นคือจักรพรรดิเมจิ) ซามูไรถูกปลดดาบ ยึดที่ดิน และลดความสำคัญลง จนในที่สุดก็ถูกยกเลิกไป ในปี 1910 รัชกาลที่ 5 ของเราได้เสด็จสวรรคต อีกสองถัดไปจักรพรรดิเมจิก็สิ้นพระชนม์ลงพร้อมกับยุคเมจิ
ยุคไทโฉะ (Taisho) — ค.ศ.1912 ถึง 1926
จักรพรรดิ ไทโฉะ ได้ขึ้นสู่อำนาจหลังจากจักรพรรดิเมจิได้สิ้นพระชนม์ไป แต่จักรพรรดิ ไทโฉะ ก็ไม่ค่อยได้พบปะผู้คนเท่าไหร่ เนื่องจากทางการอ้างว่าท่านมีอาการป่วยทั้งทางกายและทางจิต ช่วงของจักรพรรดิ ไทโฉะ นี้จะตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ 6 ของเรา ถ้าใครจำได้ยุคนี้ยังเป็นช่วงที่เกิด สงครามโลกคร้ังที่ 1 อีกด้วย
ยุคโชะวะ (Showa) — ค.ศ.1926 ถึง 1989
ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก จักรพรรดิ ไทโฉะ ได้แก่ ฮิโระฮิโตะ (Hirohito) ผู้ได้รับตำแหน่งเป็น จักรพรรดิ โชะวะ ท่านได้ครองราชย์อยู่นานถึง 63 ปี นับตั้งแต่ ร.7 ของเราครองราชย์ จนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสงครามเย็น สิ้นสุดสงครามเย็น และท่านได้สิ้นพระชนม์ในปี 1989 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ George H. W. Bush ได้รับเลือกเป็นประธานธิบดีของสหรัฐฯ ต่อจาก Ronald Reagan
ยุคเฮเซ (Heisei) — ค.ศ.1989 ถึง ปัจจุบัน
หลังจาก ฮิโระฮิโตะ สิ้นพระชนม์ไป ลูกชายของเขาที่ชื่อ อะกิฮิโตะ (Akihito) ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ เฮเซ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
หัวหน้ากลุ่มฝึกหลักสี่
สายดำระดับสี่
บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ