ประสบการณ์การเดินทางเข้าฝึกที่ประเทศญี่ปุ่น

Posted by

hom

การเดินทางไปฝึกในครั้งนี้เป็นการเดินทางไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของผู้เขียน  จุดประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้เพื่อเป็นการมาฝึกซ้อมกับเจ้าสำนักโรงฝึกบูจินกัน บูโด ไทจัสสุ อ.มาซาอะกิ ฮะทสึมิ (Soke Masaaki Hatsumi) และอ.ชิราอิชิ อิซามุ(shiraishi Isamu sansei) ซึ่งเป็นอาจารย์สายหลักที่โรงฝึกบูจินกัน ประเทศไทย (Bujinkan Thailand) นำมาเป็นแนวทางในการฝึกสอน  การเดินทางมาฝึกครั้งนี้มีโอกาสได้เข้าฝึกกับ อ.มาซาอะกิ  ที่โรงฝึกใหญ่ฮอมบู โดโจ (Hombu dojo), ที่ Tokyo Budokan, Ayase  และ กับอ.ชิราอิชิ ที่ฮอมบู โดโจ

au

บรรยากาศในการฝึกกับ อ.มาซาอะกิ นั้น สิงแรกที่สังเกตเห็นคือจำนวนของผู้เข้าฝึกมีจำนวนมาก(ทราบภายหลังว่าวันนั้นมีผู้เข้าฝึกร้อยกว่าคน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ) บวกกับโรงฝึกมีขนาดที่ไม่กว้างมากจึงทำให้นึกถึงบรรยากาศในสนามรบที่มีความชุลมุนจะขยับตัวไปทางไหนก็เจอแต่คู่ข้าง ๆ  แถมบางครั้งในการฝึกร่วมกับอาวุธยังมีการโดนลูกหลงฟาดตามส่วนต่างๆของร่างกายอีกด้วย (ถ้าหากเป็นอาวุธจริงคงบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปแล้ว)   การสอนของอ.มาซาอะกิ เป็นไปอย่างสบาย  ท่าที่แสดงออกมาเป็นธรรมดาเหมือนกับไม่มีการตั้งท่า  มีการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติเหมือนการก้าวเดินธรรมดา และสิ่งที่ทำให้เห็นว่ายากนั้นก็คือการเคลื่อนไหวที่เล็กมากจนทำให้ทำจับจุดได้ยาก โชคดีที่การฝึกในครั้งนี้ได้จับคู่กับ อ.เอก (หัวหน้าโรงฝึก บูจินกัน ประเทศไทย)  ที่ได้ช่วยชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์ของท่าที่อ.มาซาอะกิ ที่ต้องการสือให้ได้เห็น

au2

ส่วนบรรยากาศในการฝึกซ้อมกับ อ.ชิราอิชิ  ตามตารางแล้วจะเริ่มฝึกในช่วงเวลา 09.00น. แต่เมื่อไปถึงในช่วงเวลา 08.45 น. อ.ชิราอิชิได้ทำการฝึกซ้อมก่อนแล้ว มาทราบภายหลังว่าแอ.ชิราอิชิมักจะมีการสอนก่อนล่วงหน้าเสมอโดยถือว่าเป็นการวอร์มร่างกาย   ผู้เข้าฝึกในชั่วโมงนี้มีไม่มากเหมือนกับมีอยู่ประมาณ 20 กว่าคน  โดยผู้เข้าฝึกส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวต่างชาติเช่นเดิม การฝึกกับอ.ชิราอิชินั้นจะเป็นการฝึกการเคลื่อนไหว  การถ่ายน้ำหนัก  เพื่อให้เข้าใจถึงพื้นฐานของ ไทจัสสุ (Taijutsu, การเคลื่อนไหวร่างกาย)  ในการสอน อ.ชิราอิชิ จะเรียกให้ทุกคนเป็นอุเกะเพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกของการเคลื่อนไหวและถ่ายน้ำหนัก ส่วนคู่ฝึกในวันนี้เป็นชาวอเมริกาซึ่งมีขนาดตัวที่ใหญ่และสูงมาก ผู้เขียนสูงแค่เพียงระดับหัวไหล่ของเขาเอง ทำให้การฝึกต้องทำอย่างถูกต้องเพราะไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะควบคุมอีกฝ่ายได้คงเป็นเรื่องยากมาก

สิ่งที่ได้รับจากการเข้าฝึกกับอาจารย์ทั้งสองท่านนั้น สิ่งแรกเลย คือ การเปิดหูเปิดตาในสิ่งใหม่ๆ ทั้งบรรยากาศและรูปแบบการฝึก ในการเข้าฝึกแต่ละที่จะได้รับการฝึกที่ไม่เหมือนกัน  ในชั่วโมงของอ.มาซาอะกิ  อาจารย์จะแสดงทักษะระดับสูงออกมา  เนื่องจากผู้เข้าฝึกส่วนใหญ่จะเป็นสายดำระดับสูงที่มีการฝึกกันมาต่อเนื่องหลายปี   แต่ก็ไม่ได้ห้ามผู้เข้าฝึกระดับก่อนสายดำ(kyu)เข้าฝึก การสอนของอาจารย์เป็นการสอนแบบความเข้าใจไม่ใช่เกิดจากการจดจำท่า  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นหลาย ๆ คนงงกับการสอนร่วมทั้งผู้เขียนเองด้วย การสังเกตุนั้นต้องอาศัยจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่ารู้สึกอย่างไรและให้พยายามทำความรู้สึกนั้น เนื่องจากการสอนในแต่ละครั้งมักจะไม่เหมือนกัน แม้แต่การใช้ทักษะเดียวกันแต่การกระทำจะไม่เหมือนกัน   ส่วนในชั่วโมงของอ.ชิราอิชิ  การฝึกจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่าที่สอนจะมองเห็นชัดเพื่อให้ผู้เข้าฝึกสามารถทำตามได้ง่ายขึ้น  แต่ท่าที่ฝึกนั้นถือว่าเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจถึงการสอนของอ.มาชาอะกิ

สิ่งที่สองการวางตัวของอาจารย์ทั้งสองท่านและสายดำหลายๆคนมีความเป็นกันเอง ไม่มีการถือตัวพูดคุย สนุกสนานเฮฮา  จึงทำให้การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างมีความสุขและสนุกมากขึ้น   สิ่งที่สามการฝึกซ้อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ขึ้นอยู่กับจิตใจ  ในการเข้าฝึกครั้งนี้สิ่งที่เห็นจากผู้ฝึกคนอื่นก็คือ  เรื่องของการเดินทางที่แต่ละคนเดินทางมาจากหลายๆทวีปและการเดินทางภายในประเทศญี่ปุ่น  เพื่อที่จะมีโอกาสเข้าฝึกกับอ.มาซาอะกิหรือกับอาจารย์ท่านอื่นๆ  ซึ่งต้องเสียทั้งเงินและเวลาเป็นจำนวนพอสมควร  และหนึ่งในนั้นมีผู้เข้าฝึกที่มีความพิการทางสายตาร่วมอยู่ด้วย หรือแม้แต่ตัวอ.ชิราอิชิเองก็มีปัญหาเรื่องของกระดูกและสายตา (อ.มองเห็นด้วยสายตาเพียงข้างเดียว)  แต่ก็ยังคงเข้าฝึกและเป็นอุเกะให้กับอ.มาซาอะกิ  อยู่เสมอ ๆ

จากทั้งหมดที่กล่าวมาคงเป็นเพียงความรู้สึกส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถบรรยายออกมาได้  แต่ก็ยังคงมีความรู้สึกอีกมากที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่เข้าฝึกเท่านั้นที่จะเข้าใจได้  ส่วนผู้ที่ได้แต่คิดว่าจะฝึกหรืออาศัยดูจากหนังสือหรือคลิป คงจะไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกนั้นได้  เพราะบูจินกันเรียนรู้ได้ด้วยการฝึกและถ่ายทอดด้วยความรู้สึกทั้งการเป็นอุเกะและโทริ  และสิ่งสุดท้ายที่ได้กลับมาจากการเดินทางไปฝึกในครั้งนี้คือ “ขอให้มีความมีสุขกับการฝึกและการดำเนินชีวิต”

นายวชิยากรณ์  คำศิริ
สายดำขั้นสาม บูจินกัน บูโด ไทจัสสุ
หัวหน้ากลุ่มฝึกชลบุรี