คะมะเอะ (構え Kamae) หรือการตั้งท่าในการต่อสู้ นั้นถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่จำเป็น และสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งในการฝึกจะเห็นได้ว่าผู้ฝึกเริ่มต้น หลังจากฝึกอุเคมิ (ม้วนหน้า ม้วนหลัง การเซฟตัวเอง) แล้ว พื้นฐานต่อไปที่ฝึกก็คือ การฝึกคะมะเอะหรือท่ายืนนั้นเอง ซึ่งไม่ไช่แต่การฝึกของผู้ฝึกเริ่มต้นเท่านั้น การฝึกทั่วไปโดยปกติก็จะมีการฝึกของคะมะเอะอยู่เสมอ ๆ ด้วย
ทำไมคะมะเอะจึงมีความสำคัญ? ทำไมถึงบอกว่าเป็นรากฐานของฝึกที่ขาดไม่ได้? ก็เพราะว่าคะมะเอะนั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ฝึกนั้นได้รับรู้ถึงสรีระ รับรู้ถึงน้ำหนักตัวเอง เป็นการฝึกที่ให้รู้จัก ควบคุม และจัดระเบียบร่างกายของตัวเองให้ถูกต้อง ให้อยู่ในจุดที่มั่นคง อยู่ในจุดที่พร้อมที่จะเคลื่อนไหว ซึ่งลองนึกดูว่าถ้าผู้ฝึกไม่สามารถที่จะควบคุมร่างกายในขณะนิ่ง ๆ ให้มีความมั่นคงได้แล้ว จะสามารถต่อสู้หรือป้องกันตัวเองได้อย่างไร? การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะออกมาเป็นรูปแบบไหน? จะสามารถส่งแรงหรือถ่ายน้ำหนักได้ขนาดไหน? แล้วการควบคุมผู้อื่นจะเกิดได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคู่ต่อสู้มีความแข็งแรงทางร่างกายมากกว่า ตัวใหญ่กว่าหรือตัวโตกว่า
การฝึกคะมะเอะนั้นรวมไปถึงการใช้หรือจับถืออาวุธด้วย ผู้ฝึกนั้นจะถูกฝึกคะมะเอะในลักษณะที่มีอาวุธถืออยู่ การฝึกคะมะเอะของอาวุธนั้นก็เพื่อการที่จะจัดระเบียบร่างกายของผู้ฝึกกับอาวุธให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เสมือนกับว่าอาวุธนั้นเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายนั้นเอง เพื่อที่จะเตรียมพร้อมสู่การเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งในอาวุธแต่ละอย่างก็มีคะมะเอะที่แตกต่างกันไปตามลักษณะ ขนาด และน้ำหนักของอาวุธ อาวุธบางชนิดอาจจะมีขนาดใหญ่หรือหนักมาก หรือบางชนิดก็ยาวมาก ยาวกว่าความสูงของผู้ฝึกด้วยซ้ำ การฝึกคะมะเอะที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก
ในการฝึกมีผู้ฝึกจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามความสำคัญของคะมะเอะไป ทำให้การฝึกท่า การทำเทคนิคต่าง ๆ ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างถึงปัญหาการฝึก บางครั้งผู้ฝึกต้องรีบวางเท้าเพราะร่างกายไม่มั่นคง ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ พอรีบวางก็มักจะไปวางในจุดที่ไม่เหมาะสม ทำให้การเคลื่อนไหวหรือทำเทคนิคต่อเป็นเรื่องยาก ถ่ายแรงในการโจมตีไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ดี เล็งเป้าหมายก็ไม่เข้าจุดที่ต้องการ ส่งผลให้ทุกอย่างผิดที่ผิดทาง ทั้งเรื่องเทคนิค แรง ระยะ จังหวะ ฯลฯ ทำให้เป็นเหมือนการฝึกที่ไร้ประโยชน์ไป
ในการฝึกระดับสูงคะมะเอะของผู้ฝึกระดับสูงหลายครั้งจะดูเหมือนไม่มีคะมะเอะ เพราะคะมะเอะนั้นเมื่อผ่านการฝึกมาเป็นระยะเวลา ผ่านการปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อย ๆ คะมะเอะนั้นก็จะเหมือนถูกหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวไป ซึ่งถ้าหากผู้ฝึกไม่ปรับปรุง แก้ไข หรือมองข้ามความสำคัญของคะมะเอะ โอกาสที่จะพัฒนาสู่การฝึกในระดับสูงต่อไปจะเป็นไปได้ยาก
โดย ศิวาวุฒิ นิตยสุทธิ
ลำดับสาย สายดำระดับสอง บูจินกัน บูโด ไทจุสสุ