วัฒนธรรมและประเพณีในโรงฝึกบูจินกัน

Posted by

วัฒนธรรมและประเพณีเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง วัฒนธรรมนั้นหมายถึงคุณค่าที่คนในสังคมนั้นๆ
มองกัน ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูก และอะไรเป็นส่ิงที่ผิด ส่วนประเพณีหมายถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาช้านาน การฝึกในโรงฝึกบูจินกันนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การถ่ายทอดทักษะการต่อสู้ แต่จะมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามด้วย ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะรับเอาทั้งทักษะการต่อสู้และวัฒนธรรมประเพณีของบูจินกันเอาไว้

พอพูดแบบนี้หลายคนคงเห็นว่าผมเป็นคนหัวโบราณ ไม่รู้ว่าโลกปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงไหนกันแล้ว ดังนั้นผมจะขอเล่าภูมิหลังสั้นๆของผมหน่อยนะครับ ผมได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศแคนนาดาเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ผมได้สัมผัสชีวิตตะวันตกและได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมตะวันตกมาพอสมควร วันนี้ผมจะขอนำประสพการณ์บางส่วนมาเล่าให้ฟัง

10259391_727870983911015_1634759698_n

ชาวตะวันตกนั้น มักจะมุ่งเน้นความเป็นกันเอง ไม่มีลำดับชั้น หลายๆคนคงเคยได้ยินว่าภาษาอังกฤษไม่มีคำว่า “เกรงใจ”  ถ้าใครเคยขึ้นเครื่องบิน เคยนั่งกับฝรั่ง และพอพูดภาษาอังกฤษได้ อาจจะเคยเจอฝรั่งที่มาชวนเราคุย ถึงแม้จะไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่คนเอเชียนั้นมักจะให้ความเกรงใจต่อผู้รอบข้าง รู้จักกาลเทศะ รู้ว่าใครเป็นผู้ใหญ่ ใครเป็นครู

ผมเริ่มฝึกบูจินกันครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา ในโรงฝึกที่นั่นแต่ละคนได้ปฏิบัติกับ หัวหน้ากลุ่มฝึก และอาจารย์ ราวกับว่า พวกเราเป็นเพื่อนกัน อาจเป็นเพราะ หัวหน้ากลุ่มฝึกยังเป็นนักเรียนอยู่ และหัวหน้ากลุ่มฝึกซึ่งเป็นฝรั่งนั้น ก็ได้ให้ความเป็นกันเอง ราวกับว่า นักเรียนแต่ละคนเป็นเพื่อนของเขา ตามวัฒนธรรมตะวันตก นี่ถือเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่ผมฝึกอยู่ที่นั่น ผมก็ปฏิบัติตัว ตามวัฒนธรรมตะวันตก ผมยึดถือเอา หัวหน้ากลุ่มฝึก และอาจารย์ เป็นเพื่อนคนนึง คนที่นั่นไม่ใส่เสื้อยืดไว้ข้างในเสื้อฝึก ผมก็ไม่ใส่เหมือนกัน เวลาล้มต้องตบเบาะให้เสียงดัง ผมก็ตบเบาะจนสุดแรงทุกครั้ง โรงฝึกที่นั่นยกพื้นสูง แถมปูด้วยเบาะอย่างดี ตบได้เต็มแรง ไม่ต้องตัวแขนเจ็บแขนหัก พอเด็กใหม่มา ต้องยืนกอดอกทำหน้าบึ้ง (เหมือนพี่ว้ากคณะวิศวะ) คนอื่นทำอะไร ผมก็ทำตาม รู้สึกว่าตัวเองถูก รู้สึกว่าตัวเองดี รู้สึกว่าตัวเองเก่ง

หลังจากผมกลับมาที่เมืองไทย ได้เข้าร่วมกับโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย แต่ก็ยังติดในวัฒนธรรมตะวันตก จะฝึกต้องเท่ เสื้อยืดต้องไม่ใส่ โดนชก โดนกด โดนหัก ต้องไม่เจ็บ ถึงเจ็บก็ต้องทน ไม่แสดงออก อย่าให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองอ่อนแอ เดี๋ยวจะไม่เท่ ต้องพูดเยอะเยอะ ต้องถามเยอะเยอะ ต้องสอนเยอะเยอะ อาจารย์พูดอยู่ ก็ไม่เป็นไร ถามได้คุยได้ ไม่เป็นไร พออาจารย์ดุว่า รุ่นพี่ดุว่า ก็แอบเคืองในใจ ทำไมแต่ละคนไม่เป็นมิตรเลย ตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่าผมกำลังฝึกวิชาของชาวตะวันออก และฝึกอยู่ในโรงฝึกประเทศไทย ผมคิดว่าผมได้รวบรวมเอาส่วนที่ดีที่สุดของวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมตะวันตกเข้าด้วยกัน ผมไม่ได้รู้เลยว่าผมกำลังทำลายวัฒนธรรมตะวันออกอันสวยงามอย่างไม่รู้ตัว

คนไทยและคนญี่ปุ่นนั้น มีวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน เราให้ความเคารพผู้ใหญ่ เรากตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เราให้ความสำคัญกับรายละเอียด และวิธีปฏิบัติ มากพอๆกับผลของการปฏิบัตินั้น นี่เป็นวัฒนธรรมและประเพณีที่สวยงาม การฝึกในโรงฝึกบูจินกันก็เช่นเดียวกัน แต่ละคนไม่ควรจะใส่ใจเพียงแค่จะทำท่านี้ได้มั้ย แต่ควรจะใส่ใจถึงหนทางที่จะนำไปสู่การทำท่านี้ให้สำเร็จด้วย ทุกคร้ังที่ก้าวเข้าโรงฝึก ควรจะสัมผัสให้ได้ว่าที่นี่ไม่ใช่โรงยิม ก่อนจะเข้าฝึกต้องทำการไหว้ครู ไม่ได้ไหว้เท่ๆ เราควรจะรู้สึกขอบคุณครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีท่านเหล่านั้นวันนี้ เราคงจะไม่มีโรงฝึก เวลาอาจารย์สอน ควรจะตั้งใจฟัง ถ้าจะคุยกัน จะเล่นกัน ก็ไม่ต้องมาก็ได้ ไปจับกลุ่มเล่นกันเองที่โรงยิมก็ได้ เวลาเจอรุ่นพี่ ก็ควรให้ความเคารพ เวลาฝึกกับคนรุ่นเดียวกัน ควรโค้งกันก่อน ให้ความเคารพ รู้สึกขอบคุณอีกฝ่าย ถ้าไม่มีเขา เราก็ต้องเล่นคนเดียว

วัฒนธรรมและประเพณีเหล่านี้ ถือเป็นเอกลักษณ์ของโรงฝึกบูจินกัน ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ไม่แบ่งชายแบ่งหญิง ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีต้องมีข้ออ้างว่าเรามาจากฐานวัฒนธรรมที่ต่างกัน เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่โรงฝึกบูจินกันแล้ว เราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน อยู่ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมเดียวกัน แนวคิดนี้ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในโรงฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีคนจากทั่วโลกเข้าร่วมฝึก ฝรั่งบางคนก็ยังติดในวัฒนธรรมตัวเอง คือพูดจาเสียงดังไม่ให้ความเคารพสถานที่ คิดว่าโรงฝึกเหมือนโรงยิม เข้ามาในโรงฝึก จ่ายเงิน ฝึก เมื่อฝึกเสร็จก็กลับ วัฒนธรรมอันนี้สะท้อนออกมาค่อนข้างชัดในการฝึก ไม่ว่าจะเป็นคนที่ผมฝึกด้วย หรือคนที่อาจารย์เรียกออกมาแสดงข้างนอก หลายๆคนไปเน้นที่การใช้แรงกด หลายๆคนก็ทำไปคนละท่า หลายๆคนก็ไปจับกลุ่มฝึกกันเอง (ก็ไม่รู้ว่าจะเสียเงินเสียทองมาฝึกกันถึงญี่ปุ่นทำไม ฝึกที่ประเทศตัวเองก็ได้)          

แต่ก็มีฝรั่งอีกหลายๆคน ที่รับทั้งวัฒนธรรมและทักษะการต่อสู้ ผมจำได้ว่าคร้ังหนึ่งผมได้เจอฝรั่งคนหนึ่ง ขอสมมติชื่อว่า MR. T แล้วกันนะครับ MR. T อาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิเป็นประจำ MR. T เป็นคนที่มีฝึมือดีมากๆ ผมเองก็ได้เรียนรู้จาก MR. T มากทีเดียว แต่ที่น่าสนใจคือ MR. T ไม่เหมือนฝรั่งทั่วไป MR. T จะไปถึงโรงฝึกก่อนเวลาเป็นประจำ เพื่อรอรับอาจารย์ชิราอิชิ เมื่ออาจารย์มา MR. T จะกระวีกระวาดเข้าไปช่วยอาจารย์ถือสัมภาระเข้าไปด้านในโรงฝึก เมื่อฝึกเสร็จ MR. T ก็จะยืนรอส่งอาจารย์กลับ บางครั้งอาจารย์ก็จะออกปากอาสาขับรถไปส่งที่สถานี MR. T ไม่ฝึกกับอาจารย์ท่านอื่น MR. T จะฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิเพียงคนเดียว ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นการให้ความเคารพในตัวอาจารย์ด้วย (ในขณะที่ฝรั่งหลายๆคนเดินทางมาเพื่อฝึกกับอาจารย์หลายๆคน เพราะพวกเขาอยากเปรียบ อยากรับรู้ถึงความแตกต่างของอาจารย์แต่ละคน) MR. T ไม่ใช่ฝรั่งเพียงคนเดียวที่รับเอาวัฒนธรรมของบูจินกันไป ฝรั่งอีกหลายๆคนโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็จะปฏิบัติตัวคล้ายๆกัน คนไทยเองก็มีวัฒนธรรมคล้ายกับคนญี่ปุ่นจึงไม่ควรหาข้ออ้างต่างๆ นานาถึงแม้เราอยู่คนละประเทศไม่จำเป็นต้องทำตามคนญี่ปุ่น แต่เมื่อเราอยู่ในโรงฝึกบูจิกัน เราก็ควรจะทำตามวัฒนธรรมและประเพณีของโรงฝึก

ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเคารพนี่แหละจะช่วยพัฒนาให้ฝีมือเราดีขึ้น หากเรารับเอาวัฒนธรรมนี้ไว้ในใจ เราจะไม่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เราจะไม่คิดว่าเราทำได้แล้ว เราจะตั้งใจดู ตั้งใจฟัง เวลาที่อาจารย์สอน เราจะมองเห็นในส่ิงที่คนอื่นมองไม่เห็น เวลาอาจารย์เดินมาดู เราก็จะตั้งใจเป็นพิเศษ ผมจำได้ว่าหลายปีก่อนผมฝึกกับพี่อีกคนหนึ่ง (ผู้ซึ่งมอบสายเขียวที่เค้าคาดอยู่ให้ผมก่อนที่เค้าจะขึ้นสายดำ) ตอนนั้นอาจารย์เอกเดินมาดูพอดี พี่เขาเลยจัดเต็มให้ผม พออาจารย์เดินไป พี่เขาก็ถามผมว่าเป็นอะไรหรือเปล่า เมื่อสักครู่อาจารย์เดินมาเลยต้องตั้งใจเป็นพิเศษ) พอเราตั้งใจแล้วอาจารย์เห็นว่าเราเกือบได้แล้ว อาจารย์ก็อาจจะเดินเข้ามาชี้แนะ ในทางกลับกันหากเราไร้มารยาท ขาดความเคารพ ก็จะไม่มีใครอยากยุ่งกับเรา แต่ที่น่ากลัวกว่าคือเราจะคิดว่าตัวเองเก่ง เราจะไม่เชื่อว่าอาจารย์เก่ง พออาจารย์สอนก็ไม่ดู อาจารย์เดินมาบอกก็ไม่เชื่อ เวลาทำก็ทำไม่ได้ (แต่คิดว่าตัวเองทำได้แล้ว) ท้ายที่สุดอาจารย์ก็ไม่มาชี้แนะให้ แทนที่พัฒนาฝึมือขึ้น กลับกลายเป็นแย่ลง ๆ 

สำหรับโรงฝึกบูจินกันประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่า อาจารย์แต่ละท่านล้วนใจดี ได้นำเอาสิ่งเหล่านี้มาพูดเรื่อยๆ ในทางกลับกันโรงฝึกในญี่ปุ่นจะไม่มีการสอนเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่พวกเขาถือว่าเรื่องมายาทเป็นเรื่องของสามัญสำนึกที่ทุกคนควรมีโดยไม่ต้องมีการสอนในโรงฝึก ถ้าเราทำตัวไร้มายาทขาดวัฒนธรรม เขาก็แค่ไม่สนใจเรา คิดซะว่าเราไม่มีตัวตน ก็เท่านั้น

วันนี้คนที่มาในโรงฝึก ไม่ว่าจะเป็นที่ โรงฝึกใหญ่ หรือจะเป็นกลุ่มฝึกย่อยที่หลักสี่ ที่ธนบุรี ที่สมุทรปราการ ที่ฉะเชิงเทรา หรือที่ชิดลม จึงควรซึมซับทั้งวิชาต่อสู้ และทั้งวัฒนธรรม หากใครไม่สนใจเรื่องวัฒนธรรม ก็มีผลลัพธ์อยู่สองทาง หนึ่งคือในที่สุดก็ต้องเลิกไป อีกหนึ่งคือท้ายที่สุดก็ต้องมาสนใจวัฒนธรรมอยู่ดี (เหมือนผม) ดังนั้นถ้ายังคิดจะฝึกต่อ (คือเลือกทางหลัง) แล้วจะทำตัวเหมือนผมตอนอยู่แคนาดาทำไม มาเร่ิมวันนี้ศึกษาทั้งการต่อสู้และวัฒนธรรมไปพร้อมๆกันเลยดีกว่า

ผู้เขียน ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
หัวหน้ากลุ่มฝึก หลักสี่