อุเคะมิ (ukemi) คือ อะไร?
อุเคะมิ อยู่ในรูปแบบการฝึกพื้นฐานของบูจินกัน โดยที่มีลักษณะเป็นการฝึกฝนการควบคุมร่างกายตนเอง ฝึกความยืดหยุ่นและความสมดุลให้กับร่างกาย ซึ่งมีจุดประสงค์โดยทั่วไปเพื่อให้ ผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ฝึกการป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นในขณะทำการฝึกกับคู่ฝึก รวมทั้งการป้องกันตัวเองเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
เราสามารถอธิบายถึงอุเคะมิ ได้ว่าเป็นการรักษาสมดุลของร่างกายในทุกขณะของการเคลื่อนที่
ในการฝึกอุเคะมินั้นทุกคนจะต้องหา จุดสมดุลของการทรงตัวในจังหวะต่างๆของตนเองให้ได้ เพื่อที่จะสามารถ
ล้มได้อย่างถูกต้องในระหว่างการฝึก ซึ่งจะส่งผลให้อันตรายที่เกิดจากการฝึกซ้อมนั้นลดลงไปด้วย นอกจากการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ระดับของ อุเคะมิ ที่สูงขึ้นนั้นยังมีผลดีในการฝึกคือ ทำให้ผู้ฝึกสามารถเข้าใจและรับเทคนิคต่างๆของวิชาที่มีระดับสูงขึ้นได้อีกด้วย
ซึ่งผู้ที่มีความเข้าใจใน อุเคะมิ มาในระดับหนึ่งแล้วจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า โดยไม่ต้องใช้แรงในการเคลื่อนไหวมาก ผู้ที่มีความเข้าใจใน อุเคะมิ ดีนั้นจะสามารถที่จะม้วนด้วยความเร็วที่ต่ำ และใช้แรงในการม้วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความเข้าใจใน อุเคะมิ น้อยกว่า และที่สำคัญ อุเคะมิ นั้นยังมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันโดยทั่วไปด้วย
เนื่องจากการที่ รูปแบบของ อุเคะมิ เป็นการพยายามรักษาสมดุลของการทรงตัว เมื่อผู้ที่ฝึก ประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างเช่น การลื่นล้ม หรือแม้แต่การเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนน
ผู้ที่ผ่านการฝึกมา ก็จะมีแนวโน้มที่จะรักษาสมดุลของตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ไม่ให้ตนเองล้มหรือหากตนเองล้มก็สามารถป้องกันตัวเองโดย ซึ่งจะส่งผลให้ความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นลดลง
แม้ว่าผู้ฝึกบางคนอาจจะมองว่าการฝึก อุเคะมิ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการฝึกฝนจนบางครั้งทำให้ผู้ฝึกบางคนโดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่ถอดใจ ไม่ ฝึกต่อซึ่งผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์เช่นนั้นมาก่อน จนบางครั้งทำให้ผู้เขียนรู้สึก ไม่สนุกกับการฝึก แต่จากการที่ผู้เขียนได้ลองเปิดใจรับคำสั่งสอนจากอาจารย์และคำแนะนำจากศิษย์พี่ศิษย์น้องบวกกับการที่ผู้เขียนได้ฝึกฝนด้วยตนเอง
นอกเวลาการฝึกในโรงฝึก จึงทำให้ผู้เขียนมีทัศะคติที่เปลี่ยนไปกับ การฝึกอุเคะมิทำให้ผู้เขียนมีความเชื่อที่ว่า อุเคะมิ ทำให้เรารู้สึกว่าการใช่ร่างกายที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
ดังนั้น การฝึกฝน อุเคะมิ นั้นจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องฝึกฝนเป็นเวลานาน
เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทำให้ร่างกายของผู้ฝึกมีความพร้อมในการที่จะรักษาสมดุลทุกสภาพโอกาส เพื่อให้ตอบสนองต่อการฝึกสอนเทคนิคใหม่ๆของผู้ฝึกสอน เพราะในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นตัวของผู้ฝึกจะไม่มีเวลาที่จะคิดวิเคราะห์และบอกร่างกายว่าต้องป้องกันตัวเองอย่างไร แต่ต้องเป็นร่างกายที่เคลื่อนไหวไปโดยอัตโนมัติเพื่อทำให้ตนเองปลอดภัย ผู้เขียนเชื่อและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความที่เขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนจะเป็นแนวทางให้ผู้ฝึกคนอื่นๆหันมา ให้ความสำคัญกับการฝึกอุเคะมิต่อไป
ผู้เขียน กานต์ ศรีอรุณ
สายดำระดับสี่ บูจินกัน บูโด ไทจุสสุ