ความเชื่อมั่น และความมั่นใจ

Posted by

อาจารย์มะซะอะกิเคยพูดไว้ว่า “ การเลือกอาจารย์ผู้สอน เป็นหน้าที่ของผู้เรียน “

ในการฝึกศิลปะการต่อสู้ การเลือกวิชาที่จะฝึกนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ มีวิชาเกิดขึ้นใหม่ๆมากมาย โดยบางวิชาไม่มีที่มาที่ไป บางวิชาก็ตั้งชื่อขึ้นมาเอง บางครั้งก็เอาวิชาหลายๆอย่างมารวมกันแล้วก็นำไปสอนผู้อื่น  ผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลต่างๆให้เข้าใจเสียก่อน โดยปกติแล้ววิชาศิลปะต่อสู้ทุกวิชา จะมีประวัติสืบทอดกันมายาวนาน และสามารถหาข้อมูลได้ สมัยปัจจุบันก็จะมีข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตให้ศึกษาเป็นจำนวนมาก และ ปรกติประวัติของวิชาต่างๆจะไม่เป็นความลับอยู่แล้ว

จากการพูดคุยกับหลายๆคน ที่เข้ามาฝึกบูจินกัน ก็เริ่มมาจากการหาข้อมูลจากหลายๆทาง ทั้งอินเตอร์เน็ต ทั้งการโทรศัพท์มาสอบถาม บางคนใช้เวลาศึกษาข้อมูลเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งมีความเชื่อมั่น ทั้งในตัววิชา เชื่อมั่นในโรงฝึก เชื่อมั่นในตัวอาจารย์ผู้สอน  จึงเข้ามาฝึก

ดังนั้น เมื่อเราเลือกที่จะเข้ามาฝึก  ถ้าเชื่อมั่นในตัวอาจารย์แล้ว ก็ควรจะเชื่อมั่นในสิ่งที่อาจารย์สอนเช่นเดียวกัน  การฝึกทั่วไปของบูจินกัน อาจารย์ผู้สอน จะแสดงท่าที่ถูกต้องให้เราดูอยู่เสมอ ผู้ฝึกทุกคนโดยเฉพาะผู้เข้าฝึกใหม่ๆ มีหน้าที่ฝึกตามที่อาจารย์แสดงให้ดู ตามความเข้าใจของตัวเอง ในบางครั้งเวลาฝึก อาจารย์อาจจะให้รุ่นพี่หรือคนที่มีสายระดับสูงกว่า  ออกมาแสดงเรื่องแนวคิด หรือแสดงเทคนิคบางอย่างให้ดู เราเองก็ต้องเชื่อมั่นในสายตาของอาจารย์ หรือเชื่อมั่นในตัวรุ่นพี่คนนั้น ว่า มีเทคนิคบางอย่างที่เรายังไม่รู้ หรือยังทำไม่ได้  ผู้ฝึกควรจะเปิดใจรับฟังคำสอนและตั้งใจดูเทคนิคนั้นๆ อย่างตั้งใจ นำมาคิด นำมาฝึกกับคู่ของตัวเอง  ทำตามเทคนิคนั้นอย่างตั้งใจ จึงจะสามารถพัฒนาทั้งในด้านเทคนิคและพัฒนาในด้านจิตใจได้   ในบางครั้ง อาจจะรู้สึกสงสัยในบางเทคนิคที่ฝึกบ้าง วิธีแก้ไม่ใช่การไม่ฝึก ไม่ปฏิบัติตาม หรือต่อต้านทางความคิด  แต่วิธีแก้ที่ดีก็คือ ฝึก ฝึก ฝึก  เพื่อพิสูจน์ว่า ข้อสงสัยของเรานั้นถูกหรือผิด หรือในระหว่างเวลาพักหรือหลังจากเลิกฝึก ก็สามารถนำข้อสงสัยต่างๆมาสอบถามรุ่นพี่ได้  เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น และสามารถฝึกทบทวนกับรุ่นพี่หรือกับเพื่อนๆได้

nut

ความมั่นใจในตัวเอง ก็นับว่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน  ถ้าผู้ฝึกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง  ไม่มั่นใจว่า จะทำในสิ่งที่อาจารย์สอนได้หรือไม่  สงสัยในทุกอย่างที่อาจารย์สอน ในเวลาเข้าคู่ฝึกก็จะถามคู่ฝึกของตัวเองตลอดเวลาว่า “ทำแบบนี้ใช่มั๊ย?” “ทำแบบนี้ถูกต้องมั๊ย?”  การฝึกก็จะไม่ก้าวหน้า  เพราะเราไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่อาจารย์สอนได้เลย หวาดวิตกไปกับทุกสิ่ง กลัวเจ็บ กลัวทุกอย่างแม้กระทั่งสายตาของผู้ร่วมฝึกคนอื่นๆ

ในทำนองเดียวกัน ความมั่นใจในตัวเอง ถ้ามีมากเกินไปก็จะเกิดความหยิ่งยโสขึ้นในใจ ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองทำได้แล้ว ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์  ไม่สนใจคำแนะนำของรุ่นพี่ในโรงฝึก  เวลาที่อาจารย์สอนหรือแสดงเทคนิคให้ดู ก็ไม่สนใจที่จะทำตาม  มุ่งมั่นแต่จะทำตามความเชื่อของตัวเองเป็นหลัก  ที่แย่ที่สุดคือ ในขณะที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจเทคนิคนั้นๆ ยังนำเอาความเข้าใจที่ผิดๆไปสอนคู่ฝึกของตัวเอง ทั้งๆที่ในบางครั้งคู่ฝึกมีระดับสายสุงกว่าตัวเองด้วยซ้ำ แบบนี้ก็ไม่สามารถจะพัฒนาตัวเองได้

ความมั่นใจในตัวเองต้องมีความพอดี กล้าทำในสิ่งที่อาจารย์สอน เปิดใจรับฟังข้อบกพร่องต่างๆ  นำมาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองในการฝึกได้

ความไม่เชื่อมั่น  ความลังเล ความสงสัย  ความโกรธ ความกลัว  ล้วนเป็นอุปสรรคในการฝึก  ผู้ที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจมากเกินไป ก็ไม่อาจจะพัฒนาตัวเองในการฝึกได้เช่นกัน

ผู้เขียน เกรียงศักดิ์ เทพโยธิน
สายดำระดับสาม หัวหน้ากลุ่มฝึกบูจินกันธนบุรี