ประสบการณ์การเดินทาง ไปฝึกที่ญี่ปุ่นครั้งแรกของผม

Posted by

สำหรับตัวผมแล้ว แม้ว่าจะเคยเดินทางไปต่างประเทศมาบ้าง แต่ครั้งนี้ผมยอมรับว่าผมตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะสำหรับการเดินทางครั้งนี้ของผมไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อไปเที่ยว แต่เป็นการเดินทางเพื่อไปฝึกฝนตัวเองและเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ใหม่จากการฝึกศิลปะการต่อสู้ บูจินกัน บูโด ไทจุสสุ

ในวันแรกของการฝึกที่ Hombu Dojo (ฮอมบูโดโจ)

ซึ่งวันนี้เป็นการสอนของ“อาจารย์ ชิราอิชิ”เมื่อเข้าไปในโรงฝึกผมเห็นชาวต่างชาติมากมาย บางส่วนกำลังเปลี่ยนชุดฝึกบางส่วนเริ่มจับคู่ฝึกซ้อมกันเป็นการยือเส้นยืดสายเพื่อเตรียมรับการสอนจากอาจารย์ แต่สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจและคลายความวิตกกังวลคือ ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสคำนับและกล่าวทักทายกันอย่างเป็นมิตรไม่ว่าใครจะมาจากประเทศอะไรเมื่อเข้ามาในโรงฝึกก็จะโค้งคำนับทักทายกันทำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ 2 คนคือ เคจจากแคนาดาและ อเล็กซานเดอร์จากรัสเซีย อาจารย์เอกได้แนะนำให้ผมได้รู้จักกับอาจารย์ชิราอิชิ ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์เอกและท่านเป็น15ดั้งอาวุโสของบูจินกันบูโดไทจุสสุอาจารย์ชิราอิชิดูเป็นคนใจดีสบายๆ แต่ก็แฝงความน่าเกรงขามตามแบบฉบับนักศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่น รูปแบบการสอนของอาจารย์ชิราอิชินั้นเป็นการสอนที่สบายๆใช้ภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่ายแม้ว่าเทคนิคที่อาจารย์สอนมานั้นจะดูเหมือนง่ายแต่สำหรับคนที่ฝีมือระดับผมนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากผมขอให้คำจำกัดความว่าเป็น“ความเรียบง่ายที่ล้ำลึก” ทำให้ผมสำนึกตัวเองได้ว่าผมยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมายและคงต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิตกับศิลปะแขนงนี้ โชคดีที่ผมได้มีโอกาสได้ฝึกกับอาจารย์เอก ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่อาจารย์ชิราอิชิสอนทำให้ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้นและสนุกไปกับการฝึกเพิ่มขึ้น

หลังจากการฝึกเสร็จสิ้นอาจารย์ชิราอิชิจะทำการฝึกซ้อมให้กับผู้ที่จะทำการสอบsakki(ซัคกิ)หรือสอบขึ้นเป็นสายดำระดับ5 อาจารย์เอกได้อนุญาตให้ผมเข้าร่วมการสอบsakkiด้วยต้องยอมรับว่าผมดีใจมากที่อาจารย์ได้ให้โอกาสนี้กับผมแต่ในขณะเดียวกันผมก็เกิดความกังวลว่าจะสอบไม่ได้ (เพราะปกติผมก็เป็นคนกังวลง่ายอยู่แล้ว) รูปแบบของการสอบsakkiคือการให้ผู้สอบนั่งคุกเข่าหลับตาทำสมาธิแล้วให้ผู้ทดสอบยืนถือดาบในท่าพร้อมฟันปล่อยความรู้สึกหรือที่เรียกว่า”จิตสังหาร”(ฟังดูเหมือนในหนังใช่ไหมครับ แต่มันคือเรื่องจริง) ออกมา ผู้สอบจะต้องรู้สึกถึงจิตสังหารนั้นให้ได้เมื่อผู้ทดสอบฟันดาบลงมาต้องหลบให้ได้จึงถือว่าสอบผ่าน อาจารย์ชิราอิชิคงมองออกว่าผมกังวลจึงบอกกับผมเป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า” ไม่ต้องกังวลไปเมื่อรู้สึกว่าต้องไป” ผมยอมรับว่าผมพยามฟังเสียงแต่โรงฝึกนั้นติดกับทางรถไฟจึงได้ยินเสียงรถไฟอยู่ตลอดผมจึงลองพยายามตั้งสติคิดแค่ว่าโดนก็โดน…ทำเต็มที่   ในขณะที่ผมนั่งคุกเข่าทำสมาธิอยู่สักพักผมก็รู้สึกเหมือนว่ามีอะไรบางอย่างตรงมายังที่หัวของผม ผมจึงม้วนไปข้างหน้าพยายามจะหลบ แต่ผมคิดว่าผมโดนฟันแล้วจึงมองไปที่อาจารย์เห็นอาจารย์พยักหน้าแสดงว่าผมก็น่าจะหลบได้

หลังจากที่ผู้ที่จะต้องสอบ sakkiได้ทำการฝึกซ้อมเสร็จเรียบร้อย อาจารย์เอกจึงพาพวกเราไปส่งอาจารย์ชิราอิชิซึ่งเป็นธรรมเนียมโบราณของญี่ปุ่นโดยลูกศิษย์จะช่วยอาจารย์ถือของและไปส่งอาจารย์ที่รถพออาจารย์ขับรถออกไป เราก็คำนับอาจารย์1ครั้งและพออาจารย์เลี้ยวรถออกไปเราก็คำนับอีก1ครั้งต้องถือว่านี่เป็นความรู้ใหม่ของผมมันเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างศิษย์และอาจารย์ซึ่งผมไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

20730_10152602250671784_2204190996997665707_n

 การฝึกในวันที่2 ที่ Ayase (อะยะเสะ)

ที่อะยะเสะซึ่งเป็นเหมือนศูนย์ฝึกของศิลปะการต่อสู้หลายชนิดของญี่ปุ่นวันนี้จะเป็นการสอนของ”อาจารย์มาซาอะกิ ฮัทสึมิ” เจ้าสำนักบูจินกันบูโดไทจุสสุ และเป็นวันที่ผมจะต้องสอบ sakkiด้วยยอมรับว่าเมื่อคืนผมนอนไม่หลับทั้งตื่นเต้นทั้งกลัว(พี่ๆและอาจารย์ในคณะเดินทาง อย่าคิดว่าผมเป็นคนตื่นเช้านะครับจริงๆแล้วผมนอนไม่หลับ)ครั้งแรกที่ได้พบกับอาจารย์มาซาอะกิคือ ผมกับอาจารย์ธีรวัฒหัวหน้าโรงฝึกหลักสี่เรารีบเดินเพื่อที่จะเข้าไปเก็บของในที่เราเตรียมไว้ใกล้ๆที่ฝึกจู่ๆอาจารย์มาซาอะกิก็เดินเข้ามาเรา2คนตกใจมากแต่ก็โค้งคำนับทำความเคารพและอาจารย์ก็กล่าวทักทายเรา2คนอย่างเป็นกันเอง วันนี้อาจารย์ชิราอิชิก็มาร่วมฝึกด้วย

การฝึกวันนั้นผมยอมรับว่าผมไม่รู้เรื่องเลยอาศัยเลียนแบบดูคู่ของอาจารย์เอกที่ฝึกอยู่กับอาจารย์อิทเอาแล้วก็ฝึกไปตามความเข้าใจของตัวเองได้บ้างไม่ได้บ้างแต่คิดว่าไม่ได้เยอะกว่าได้แต่ก็สนุกดีพอฝึกไปได้ซักพักการสอบsakkiก็มาถึงซึ่งอาจารย์มาซาอะกิจะให้สายดำ15ดั้งของประเทศของผู้สอบเป็นคนสอบให้ซึ่งอาจารย์เอกจะต้องเป็นคนสอบให้ผม ผมตื่นเต้นมากยอมรับว่าขาสั่นเลยเพราะคนสอบคนแรกที่เป็นชาวอเมริกันนั้นสอบไม่ผ่านการสอบไม่ง่ายเลย โชคดีที่ผมจำคำที่อาจารย์อิทเคยบอกไว้ก่อนสอบว่า ”แม้ว่าตอนสอบคนที่มองจะมากมายแค่ไหน แต่เมื่อเราหลับตาลงโลกนี้คือโลกของเรา” เมื่อถึงคราวที่ผมต้องสอบ

ผมจึงนั่งหลับตาแล้วก็เป็นเหมือนที่อาจารย์อิทว่า มันเงียบโลกนี้คือโลกของผมและเหมือนกับที่อาจารย์ชิราอิชิฝึกให้ผมรู้สึกว่าผมหลบไม่พ้นผมถูกฟันอีกแล้ว แต่ก็พยายามม้วนไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดแต่เสียงที่ได้ยินต่อมาคือเสียงที่อาจารย์มาซาอะกิพูดว่าOk!ซึ่งหมายถึงผมสอบผ่านยอมรับว่า ดีใจ ตกใจ หูอื้อไม่ได้ยินแม้เสียงตบมือโลกนี้มันโลกของผมจริงๆขอบคุณอาจารย์อิทสำหรับคำแนะนำนี้ครับ วันนี้มีคนไทยเข้าสอบ4คนรวมทั้งผมด้วยทุกคนผ่านหมดครับ หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกในวันที่ 2มี ผู้ฝึกจากหลายประเทศมาจับมือแสดงความยินดีกับพวกเรา

การฝึกในวันที่3ที่ Kashiwa (คะชิวะ) 

คะชิวะเป็นเหมือนศูนย์ฝึกของศิลปะการต่อสู้เหมือนกับที่ Ayase แต่อยู่ห่างออกไปไกลมากนอกจากนั่งรถไฟมาไกลแล้วยังต้องเดินเท้าเข้าไปที่ศูนย์ฝึกอีก 1-2 กิโลเมตร มันทำให้ผมรู้สึกว่าคนที่จะฝึกวิชานี้นั้นต้องดั้นด้นพยายามแค่ไหนลองหันกลับมามองที่ประเทศไทยหลายคนไม่มาฝึกเพราะอ้างเหตุที่ว่า“บ้านไม่ได้อยู่ใกล้โรงฝึกหรืออยากให้โรงฝึกมาเปิดแถวบ้าน” ถ้ามีเงื่อนไขกันแบบนี้ผมว่าคงฝึกกันไม่ได้แน่ครับ วันนี้เราฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิ ครับรูปแบบการฝึกเหมือนวันแรกคือใช้การเคลื่อนไหวทำลายสมดุลคู่ต่อสู้ใช้แรงให้น้อยที่สุด

แต่ที่ Kashiwaต่างจากที่ Hombu Dojo และ Ayase ตรงที่ไม่ค่อยมีใครมาฝึกผู้มาฝึกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เรียนกับอาจารย์ชิราอิชิมาโดยตลอดจึงทำให้อาจารย์สามารถดูแลผู้ฝึกทุกคนได้มากขึ้นใกล้ชิดขึ้น ผมได้รู้จักกับ“สตีฟ”  เป็นชาวอังกฤษที่มาสอนภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่นเริ่มฝึกพร้อมกันกับอาจารย์เอก สตีฟเป็นกันเองกับผมมากเวลาฝึกกับสตีฟ สตีฟจะไม่พูดเหมือนสอนเหมือนอย่างที่ชาวต่างชาติคนอื่นชอบทำเพียงแต่จะบอกเล็กน้อยในขณะที่เคลื่อนไหวเวลาฝึกในตอนนั้นผมกลัวว่าสตีฟจะรำคาญในท่าทางตื่นเต้นของผม แต่ไม่เลยเขาดูเป็นคนญี่ปุ่นที่ใจเย็นและใจดีคงเพราะเขาอยู่ญี่ปุ่นมานาน นานจนเขากลายเป็นคนญี่ปุ่นไปแล้ว

การฝึกที่Kashiwaกับอาจารย์ชิราอิชินี้ต้องยอมรับว่าผมได้อะไรเกี่ยวกับวิชานี้มามากแต่ผมไม่สามารถอธิบายเป็นตัวอักษรได้เหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องรู้สึกด้วยตัวเองแต่ละคนแต่ละระดับจะรู้สึกไม่เหมือนกัน แต่สิ่งอธิบายได้คือการได้5ดั้งไม่ทำให้ผมรู้สึกเก่งขึ้นเลยแต่ทำให้ผมรู้ว่าผมยังไม่รู้อะไรอีกเยอะมาก

การฝึกวันสุดท้ายที่ Hombu Dojo

ความประทับใจแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้ฝึกคือในระหว่างที่เราเดินทางกำลังจะเข้าไปในโรงฝึกก็มีกลุ่มผู้ฝึก ต่างชาติแต่ผมไม่ทราบว่าประเทศอะไรพูดทักทายเราในระหว่างเดินทางว่า “Hello Thailand welcome” นั้นหมายถึงว่า บูจินกันประเทศไทยเป็นที่รู้จักแล้ว บอกตรงๆว่าผู้รู้สึกภูมิใจกันเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก

วันนี้เป็นการสอนของอาจารย์มาซาอะกิ และเป็นวันที่คนมาเข้าฝึกเยอะมากเยอะมากจนเวลาฝึกไม่มีที่ให้ม้วนหน้าม้วนหลังได้เพราะเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็ชนคนที่ฝึกข้างๆแล้วและที่สำคัญผมมองการเคลื่อนไหวของอาจารย์มาซาอะกิไม่ออกอาจารย์ทำเหมือนเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติมากเช่นเพียงยกมือขึ้นธรรมดาแต่ทำไมผู้ที่เป็นคู่ฝึกของอาจารย์จึงถูกทุ่มผมมองกระบวนการนั้นไม่ออกจริงๆก็ได้แต่อาศัยดูคู่ของอาจารย์เอกที่ฝึกกับอาจารย์อิทแล้วก็ฝึกเอาตามความเข้าใจของตัวเองเหมือนฝึกที่ Ayase วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการสอบsakkiหรือการสอบขึ้นดั้ง 5 ปรากฏว่า เคจชาวแคนาดาเพื่อนใหม่ของผม เธอก็เข้าสอบครั้งนี้แล้วก็สามารถสอบผ่านอีกด้วย

วันนี้ผมนำม้วนกระดาษที่อาจารย์เอกพาผมไปซื้อเพื่อนำมาให้อาจารย์มาซาอะกิตั้งซื่อโรงฝึกของผมให้ อาจารย์มาซาอะกิตั้งชื่อโรงฝึกของผมว่า“ซุยกิโดโจ”แปลว่า“โรงฝึก ยักษ์น้ำ”ผมไม่ทราบว่าทำไมอาจารย์จึงตั้งซื่อนี้ให้กับผมแต่ก็ดีใจที่อาจารย์ตั้งให้

จากการฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นผมสังเกตเห็นว่าพวกสายดำระดับสูงต้องทำงานหลายอย่างเช่น มีหน้าที่เก็บเงิน ,มีหน้าที่ดูแลเตรียมเอกสารในกรณีเพื่อนำมาให้ผมเขียนตอนสอบsakkiผ่าน ,การยกน้ำชาให้อาจารย์ หรือแม้แต่เวลาที่อาจารย์เขียนรูปภาพหรือเขียนอักษรในม้วนกระดาษก็ช่วยกันนำกระดาษที่อาจารย์เขียนแล้วมาผึ่งลมให้หมึกแห้ง ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะรูปแบบของความร่วมมือในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร

ผมเคยคิดว่าได้5ดั้งมาผมคงจะรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น แต่ไม่ใช่ผมกลับรู้สึกว่าได้5ดั้งมาตัวผมต้องโตขึ้นมีวุฒิภาวะมากขึ้นต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตอนนี้ผมมีโรงฝึกเป็นของตัวเองแล้ว

ผมอยากสรุปว่าสิ่งที่ผมได้จากการเดินทางมาฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ว่า ผมยังไม่รู้อะไรอีกหลายอย่างเกี่ยวกับวิชานี้ความรู้ที่ผมมี มีน้อยมากน้อยจนผมไม่กล้าบอกใครว่ารู้อะไรบ้างบางอย่างเป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งจะรับรู้ได้เมื่อเปิดใจยอมรับการฝึกเท่านั้น

กานต์ ศรีอรุณ
สายดำระดับ5 บูจินกันบูโด ไทจุสสุ
หัวหน้าโรงฝึกบูจินกัน สยามสแควร์ (ซุยกิโดโจ)