สรุปการเดินทางเข้าฝึกที่ญี่ปุ่นปี 2015 ตอนที่ 1

Posted by

สำหรับการเดินทาง ไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ เป็นระยะเวลา ประมาณ 7 วัน ในช่วงวันที่ 1-7 มีนาคม ซึ่งมีสมาชิกที่ร่วมเดินทางทั้ง 6 คน โดยในปีนี้มีสมาชิกที่เข้ารับการสอบสายดำระดับ 5 (Sakki Test) จำนวน 4 คน และ ผ่านการทดสอบทั้ง 4 คน ซึ่งสำหรับผมนั้นได้ผ่านจุดตรงนี้มาแล้ว ทำให้ในปีนี้ผมคิดว่าตนเองอาจจะเห็นอะไรที่มากขึ้นจากเดิมในการเดินทางไปครั้งนี้ ในการเดินทางไปครั้งแรกประมาณปี 2013 ผมเห็นแต่อะไรที่แปลกใหม่เหมือนได้สัมผัสกับสิ่งที่อาจารย์เคยบอก แต่สำหรับปีนี้ผมเห็นอะไรต่างออกไป โดยผมคิดว่าสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้จะทำให้หลาย ๆ คนอาจจะพอมองภาพออกว่าในโรงฝึกบูจินกันประเทศไทย สอนอะไรและฝึกอะไร

11053110_912633125434799_1125315880837594247_o

เรื่องของความเป็นอาจารย์ และ ความรับผิดชอบของอาจารย์

สิ่งแรกที่ผมคิดว่าผมเห็นได้ชัดคือ ความเป็นอาจารย์ และ ความรับผิดชอบของอาจารย์ ผมเข้ารับการฝึกบูจินกันในโรงฝึกบูจินกันประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาพอสมควรเห็นพัฒนาการและสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงฝึกมาเกือบจะตั้งแต่ต้นจากที่มีผู้เข้ารับการฝึกไม่ถึง 4 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกที่เดินทางไปฝึกถึงประเทศญี่ปุ่นและสอบผ่านสายดำระดับ 5 แล้วหลายคน ซึ่งในแต่ละคนนั้นก็จะสามารถเปิดโรงฝีกและทำการฝึกสอนต่อไปได้แล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากเทียบกับระยะเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่อาจารย์เริ่มฝึกจนถึงทำการสอนจนถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ทั้งเรื่องการฝึกรวมถึงความรับผิดชอบต่าง ๆ นี้ได้ถูกถ่ายทอดจากอาจารย์ลงมา

นับจากการเริ่มต้นวางแผนการเดินทางสำหรับผมก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในปีนี้มีสมาชิกที่ร่วมเดินทางไปนั้น หลายคนเพิ่งจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ทำให้ในมุมมองของผมซึ่งต้องจัดเตรียมนั้น ต้องรอบคอบมากกว่าเดิมทั้งในการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ สำหรับสมาชิก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้อาจารย์ยังต้องคอยดูแลและต้องจัดเตรียมเพิ่มเติมให้อยู่ดี

ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นคือต้องคิดถึง ”ส่วนรวม” ก่อน สมาชิกหลายคนยังไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดปัญหาในการเข้าประเทศญี่ปุ่นน้อยที่สุด สถานที่ต่างๆ ที่จะไปจะต้องคิดถึงสมาชิกที่ยังไม่เคยไปด้วย คิดรวมไปกระทั่งวางแผนถึงอาหารที่จะต้องทานในแต่ละมื้อเพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินไป

ต่อไปคือเมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นนับเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่อาจารย์มาดูแล ตลอดไปจนถึงร่วมเข้ารับการฝึกด้วยทุกครั้งเพื่อดูแล เปรียบเทียบง่าย ๆ ครับ เราจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ในทริปนี้ อาจารย์ก็คงจ่ายไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งยิ่งเทียบกับค่าสอนที่เก็บได้คงบอกได้ว่าไม่พอแน่นอน สำหรับผมส่วนนี้สำคัญพอ ๆ กับการฝึก แต่เชื่อว่าหลายคนไม่ได้คิดถึงจุดนี้แน่นอน หากอาจารย์ไม่ได้สอนหรือพยายามให้เราทำในจุดนี้ ถึงวันหนึ่งเราคงไม่สามารถ ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ต่อให้กับลูกศิษย์ได้

ในส่วนต่อไปที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในบูจินกัน บูโด ไทจุสสึนั้น ผู้ที่จะเข้ารับการสอบสายดำระดับ 5 นั้นจะต้องมีสายระดับสูงเป็นผู้รับรอง (จริง ๆ ระดับอื่น ๆ ต่อไปก็เช่นกัน) สำหรับจุดนี้มองได้สองมุม การรับรองเป็นความรับผิดชอบของอาจารย์ แต่ในมุมกลับกันการจะให้อาจารย์รับรองได้ก็เป็นความรับผิดชอบของลูกศิษย์เช่นกัน ในการรับรองสายในระดับสายที่ต่ำกว่าขั้น 5 นั้นมองได้ว่าเป็นแค่ภายในโรงฝึกประเทศไทย แต่สำหรับการสอบระดับ 5 ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นการรับรองระดับโลก เพราะ โดยปกติแล้วการฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นนี้ มีสมาชิกที่เข้ารับการฝึกเดินทางมาจากทั่วโลก

ผมเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ ตอนสมาชิกที่จะเข้าไปทำการสอบนั้นจะต้องนั้นรออยู่ตรงกลางโรงฝึก เมื่อจะทำการสอบนั้น อาจารย์มาซะอะกิ (Soke) จะถามก่อนว่ามาจากไหน แล้วใครเป็นผู้รับรอง ซึ่งอาจารย์เอกยกมือว่าเป็นผู้รับรองภายใต้โรงฝึกบูจินกันประเทศไทย และ มาจากประเทศไทย อาจารย์ มาซะอะกิ ก็ได้เรียกอาจารย์เอกเป็นผู้ทำการทดสอบ ในครั้งนี้มีอีกหลายประเทศซึ่งมีผู้เข้ารับการสอบสายดำระดับ 5 เช่นกัน ที่จำได้ก็เป็นประเทศอเมริกาซึ่งก็เป็นในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจุดนี้เองที่เห็นได้ชัดเจนว่าคนจากทุกมุมโลกที่เข้ารับการฝึกคงไม่รู้จักเราว่าเป็นใคร แต่จะรู้จักเราในฐานะ Thailand ซึ่งในมุมของลูกศิษย์ นั้นถือเป็นความรับผิดชอบทั้งในส่วนของการวางตัว การปฏิบัติตัว และ สิ่งต่างๆ เมื่ออยู่ในโรงฝึกที่ประเทศไทยรวมถึงในประเทศญี่ปุ่น เพราะสิ่งที่ปฏิบัตินั้นส่งผลทั้งกับประเทศไทยและกับอาจารย์ด้วย

ส่วนในอีกมุมหนึ่งสำหรับความรับผิดชอบของอาจารย์ แน่นอนว่าอาจารย์มาซาอะกิและชิฮันหลาย ๆ ท่านรู้จักอาจารย์เอก ดังนั้นความรับผิดชอบทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำของเราที่ มาจากประเทศไทยนั้นนั้นตกเป็นความรับผิดชอบของอาจารย์เช่นกัน

เรื่องของความเข้าใจในการฝึก

สำหรับการอธิบายในจุดนี้เป็นสิ่งที่อธิบายยากมาก ยิ่งอธิบายให้กับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกอาจจะไม่เข้าใจเลย แต่ สำหรับผู้ที่รับการฝึกมาบ้างแล้วอาจจะพอเข้าใจได้

การฝึกหลัก ๆ ของการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นคือ คลาสของอาจารย์มาซะอะกิ และ คลาสของอาจารย์ชิราอิชิ เช่นเคยเหมือนปีที่แล้ว เมื่อเข้ารับการฝึกการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการฝึกไม่เหมือนกับการฝึกที่ประเทศไทย
แต่เนื่องจากปีที่แล้วได้มาฝึกแล้วครั้งหนึ่งครั้งนี้เลยพอจะเข้าใจกับรูปแบบการฝึกในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

สิ่งที่ชัดเจนมากกว่าปีก่อนคือ “ความยาก” การฝึกตามรูปของอาจารย์ชิราอิชิ นั้น อาจารย์จะทำการแสดงให้ดูก่อน โดยเรียกผู้เข้ารับการฝึกทุกท่านมาเป็นคู่ด้วย ซึ่งเมื่ออาจารย์แสดงให้ดู เราก็จะสามารถเห็นท่าที่อาจารย์ทำ และ เมื่อเราได้เป็นคู่เราก็จะได้ความรู้สึกในท่านั้น ๆ ความยากที่ผมพยายามจะบอกคือทั้งสองจุดนี้ ผมขอเล่าเป็นสองส่วนคือ ส่วนการฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิ กับ ส่วนการฝึกกับอาจารย์มาซาอะกิ

ฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิ

ครั้งนี้ผมคิดว่าผมมองเห็นการเคลื่อนไหวในท่าที่ฝึกนั้นได้ชัดขึ้น เช่นการก้าวเท้าการถ่ายน้ำหนัก ซึ่งมองแล้วเป็นสิ่งที่ง่ายมาก ตอนอาจารย์แสดงให้ดูก็เพลินดี ดูเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติธรรมชาติ เหมือนการเดินของคนปกติทั่วไป ที่ไม่ได้ตั้งใจจะต้องถ่ายน้ำหนักหรือนั่งม้าเหมือนในหนังจีนกำลังภายใน
แต่เมื่อถึงเวลาซ้อมกลับ “ทำไม่ได้”

เมื่อทำการฝึกต่อไป อาจารย์ชิราอิชิจะเข้ามาทำท่านั้น ๆ ให้ดูอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เรียก อาจารย์เอกไปเป็นคู่ด้วย ดูแล้วเพลิน ดูอาจารย์ทำง่าย ๆ เช่นเดิมกับที่ทำในครั้งก่อนหน้า แต่คราวนี้ปรากฏว่าจากที่คิดว่ามองเห็นว่าอาจารย์เคลื่อนไหวอย่างไรแล้ว กลับกลายเป็นว่า มองอีกทีแล้ว “มองไม่เห็นอะไรเลย” โชคดีเช่นเคยที่อาจารย์เอกแนะนำเพิ่มเติมให้ภายหลังระหว่างการฝึกอีกครั้ง แต่สำหรับผมแล้วการมองไม่เห็นอะไรเลยไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้อะไรจากการฝึกเลย สิ่งที่เราได้เราเห็นเป็นตามระดับความรู้ของเราในการฝึก ซึ่งเราสามารถเอาแนวคิดและหลักของการฝึกที่เราสามารถเอามาพัฒนาตนเองเมื่อกลับมาฝึกที่ประเทศไทยได้ต่อไป

ฝึกกับอาจารย์มาซาอะกิ

สำหรับการฝึกกับ อ.มาซาอะกิ สำหรับผมอธิบายได้สั้น ๆ ครับว่ายากมาก แทบมองไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้อาจารย์ก้าวอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร ที่พอจะมองเห็นบ้างเล็กน้อยนั้นจะมาจากพยายามทำความเข้าใจในการฝึกจากคลาสของอาจารย์ชิราอิชิ และ พยายามดูให้เห็นมากที่สุดเท่านั้น แต่ผลลัพธ์เหมือนเดิมคือ เมื่อถึงเวลาซ้อมมักจะรู้สึก “ทำไม่ได้” แต่สิ่งที่ได้ชัดเจนคือแรงบันดาลใจว่าสักวันเราคงจะเก่งได้สักครึ่งของอาจารย์

สรุปโดยรวม ๆ แล้ว สำหรับการฝึกนั้นผมมองว่าเดินถูกทางและชัดเจนพอสมควร เพราะ จากที่เล่าให้ฟังกับการฝึกในคลาสของอาจารย์มาซาอะกินั้น สิ่งที่พอรับได้ก็คือ สิ่งที่ฝึกกับอาจารย์ชิราอิชิมาในวันก่อนหน้า ที่ผมกล่าวอย่างนี้ก็เพราะจากที่เห็นชัดเจนในการเข้ารับการฝึกว่า อาจารย์ชิราอิชิในวัย 70 กว่าปี ก็ยังคงเข้าเป็นอุเคะให้กับอาจารย์มาซาอะกิอยู่ ซึ่งนั้นหมายความว่าอาจารย์ชิราอิชิสามารถเข้าไปรับการเคลื่อนไหว และ สิ่งอื่น ๆ จากอาจารย์มาซาอะกิเช่นกัน

อีกส่วนหนิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ การฝึกในลักษณะนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ฝึกในระดับต้น ๆ ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นนั้นก็ควรจะได้ระดับสายที่ไม่ใหม่จนเกินไป

สำหรับสิ่งสุดท้ายในบทความนี้ที่อยากจะบอก คือ การเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นสมัยนี้คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่สำหรับการเดินทางไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลาย ๆ คนเช่นกัน เพราะคงไม่ใช่แค่เพียงมีเงินแล้วก็มาได้ แต่มันต้องมีส่วนประกอบมากมายทั้งมุมมอง ความคิด ความรับผิดชอบ การพยายามเข้ารับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสิ่งอื่นๆ ในคำว่า Work-Life balance ที่จะทำให้เดินทางมาแล้วได้ประโยชน์จากการฝึกอย่างแท้จริง

ผู้เขียน
ณัฐธีร์ รุจิระชัยเวทย์
สายดำระดับ 6 บูจินกัน บูโดไทจุสสุ