ความผูกพันกันระหว่างโทริกับอุเคะ

Posted by

ในการฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้หรือป้องกันตัวไม่ว่าจะประเภทใดก็ตามสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเข้าคู่เพื่อฝึกซ้อม  โดยในการเข้าคู่นั้นจะประกอบไปด้วย ผู้กระทำ(โทริ Tori) และผู้ถูกกระทำ(อุเคะ Uke)   ในการฝึกซ้อมทั้งโทริและอุเคะจะต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฝั่งโทริจะต้องรับรู้ความรู้สึกว่าแต่ละจังหวะที่ทำนั้นทำให้อุเคะขยับตัวไปทางไหน  ใช่ลักษณะเดียวกันกับที่อาจารย์ทำหรือไม่ แรงที่กระทำนั้นมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่  แรงนั้นทำให้อุเคะบาดเจ็บหรือไม่  ส่วนอุเคะก็จะต้องเรียนรู้จากโทริโดยดูว่าแรงที่ส่งผ่านมานั้นทำให้ร่างกายเราขยับอย่างไรแล้วเสียสมดุลมากน้อยขนาดไหน  อีกอย่างที่สำคัญสำหรับการเป็นอุเคะคือพยายามอย่างกลัวการกระทำจากโทริมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะนั้นๆทั้งของตัวอุเคะและโทริเอง

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองนั้นพบทั้งโทริและอุเคะในหลายรูปแบบ ทั้งกลัวเกินไปและใช้แรงมากเกินไปหรือบางครั้งก็ซักถามมากเกินไป โดยจะแตกต่างกันไปตามระดับและระยะเวลาในการฝึก เช่น ในผู้ฝึกระดับเริ่มต้นนั้นมักจะไม่ใส่ใจในการเป็นอุเคะ มีการซักถามที่มากเกินไปและกลัวในการเป็นอุเคะมากเกินไป  เมื่อถูกกระทำเพียงเล็กน้อยก็แสดงอาการออกมา โดยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกกระทำ หรือ ที่หนักที่สุดถึงขนาดที่โทริยังไม่ได้ทำอะไรแต่ตัวเองก็หลบหรือลงไปนอนกับพื้นเอง และเมื่อตัวเองกับมาเป็นโทริเมื่อทำไม่ได้มักจะใช้แรงเข้ากระทำเพื่อหวังให้อุเคะล้มลง (แต่เมื่อทำไม่ถูกอุเคะก็มักจะไม่เป็นอะไร) เมื่อมุ่งแต่จะใช้แรงโดยไม่ได้ใส่ใจกับการรับรู้การเคลื่อนไหวของกันและกันก็จะทำให้การรับรู้สึกกันและกันหายไป

ในส่วนของผู้ฝึกระดับสูง ผู้ฝึกในกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่เข้าฝึกเป็นเวลานานและมีความสม่ำเสมอในการเข้าฝึก ส่วนใหญ่มักจะสัมผัสความรู้สึกต่างๆได้ ความยากลำบากของของกลุ่มนี้ก็คือการรับรู้ความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดจากภายนอก แต่ต้องรับรู้ความรู้สึกที่เกิดจากภายใน ในหลายครั้งที่การต่อสู้ไม่ได้เริ่มต้นที่การออกอาวุธแต่เริ่มตั้งแต่การเผชิญหน้ากัน ผู้ฝึกในระดับนี้จะต้องเปิดรับความรู้สึกที่ฝ่ายโทริในขณะที่เป็นอุเคะ และ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นโทริจะต้องพยายามส่งผ่านความรู้สึกนั้นสู่อุเคะ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจและเปิดใจรับสิ่งนั้น ดังจะเห็นได้จากในขณะที่ถูกเรียกเป็นอุเคะให้กับอาจารย์ .มีหลายครั้งที่อาจารย์จะแสดงการใช้ “คูคัง”ออกมา (โดยปกติจะขึ้นอยู่กับนะดับของอุเคะ)  ถ้าหากอุเคะแสดงออกมาว่าสามารถรับรู้ความรู้สึกนั้นได้ ก็จะเป็นเหมือนกับการเปิดมุมมองใหม่ๆต่อตัววิชาที่ฝึกมา และ เมื่อกลับไปเป็นโทริก็จะต้องพยายามแสดงสิ่งที่รับรู้จากอาจารย์เพื่อส่งผ่านไปยังอุเคะของตนเองให้ได้  ดังนั้นความผูกพันกันระหว่างโทริกับอุเคะจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่ายนั้นเอง

ผู้เขียน วชิยากรณ์ คำศิริ
สายดำระดับสอง บูจินกัน บูโด ไทจุสสุ
หัวหน้ากลุ่มฝึกชลบุรี