ผมเขียนบทความนี้ครั้งแรกไว้ในบล๊อคส่วนตัว
[http://buyuth.wordpress.com/]
ขอนำมาวางไว้ในส่วนของโรงฝึกด้วยแล้วกัน สำหรับผู้ฝึกบูจินกันทุกคน
———————
เขียนไปในเรื่องก่อนหน้าว่าอาจารย์ชิราอิชิ อายุเจ็ดสิบปีแล้ว และ อาจารย์มาซึอะกิอายุ แปดสิบปีแล้ว
บางคนอาจจะว่า ทำไมอาจารย์ระดับนี้ถึงยังมาฝึกกันอยู่อีก บ้านเราส่วนมากอายุขนาดนี้ก็ไม่ออกไปไหนกันแล้ว
สำหรับบูจินกันฝึกกันนาน ๆ ทั้งนั้น ไม่ต้องดูที่ไหนไกลในโรงฝึกไทยเรานี่เอง
สิบกว่าปีที่ผ่านมาบางคนก็ฝึกตั้งแต่เป็นนักเรียน นักศึกษา และฝึกมาจนถึงป่านนี้ที่กลายเป็นคนทำงานมีลูกกันไปแล้ว ถ้าที่ต่างประเทศนี่ก็ฝึกกันจนตายไปข้างนึงเลยทีเดียว
คนไม่เข้าใจก็สงสัย….ฝึกอะไรกัน ทำไมใช้เวลาขนาดนั้น
ถ้าตอบสั้น ๆ ก็ว่า ศิลปะการต่อสู้นั้นใช้เวลาการเรียนรู้ทั้งชีวิต ไม่มีวันจบ
แต่ขออธิบายขึ้นมาหน่อย
ถ้าฝึกถูกทางคุณจะพัฒนาตนเองได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัดเวลาและอายุ
ยิ่งมาอายุมากขึ้นสิ่งที่เคยมีจะไม่มี สิ่งที่ไม่มีก็จะมี มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ได้ทั้งทางดีและไม่ดี
ไม่ว่าเทคนิคท่าทาง ความคิด ความเข้าใจทั้งหลายมันจะเปลี่ยนไป
เหมือนกับที่เราเห็นคนที่สมัยหนุ่ม ๆ สำมะเลเทเมา แต่พอแก่ก็เข้าวัดเข้าวานั่นแหละครับ
ร่างกายที่จากหนุ่มมีพลัง มีกล้ามเนื้อสวยงาม พอผ่านการใช้งานมากขึ้นทุกวัน ๆ ไม่ทันไร
ก็เปลี่ยนไปเป็นไม่มีพลังและไม่มีกล้ามเนื้อ จะใช้วิธีเดิม ๆ ที่ฝึกมาแต่หนุ่มก็ไม่ได้
ก็ปรับก็แก้กันไปตามความเหมาะสม อะไรที่สมัยก่อนมองไม่เห็นหรือเข้าใจผิด
ฝึกนานไป ๆ ก็เริ่มมองเห็นขึ้นชัดขึ้น ถ้าไม่หลับตาหรือเลิกมองมันซะก่อน
สมัยหนุ่ม ๆ ใช้ร่างกายดี ๆ เข้าสู้ด้วยพลัง พอสักสามสี่สิบก็เริ่มหมดพลังซะแล้ว
ในบูจินกัน นินโปเองไม่เหมือนวิชาอื่น ๆ การฝึกของบูจินกัน ไม่มี structure ที่บังคับเจาะจง นี่คือสิ่งที่ต่างจากหลายวิชา ที่ว่าลูกศิษย์จะต้องเรียนอะไรบ้างในแต่ละครั้ง ถึงแม้จะมีตำรา Ten Chi Jin ที่อาจารย์มาซึอะกิเคยทำไว้ แต่ก็เป็นเพียง Reference ให้ผู้สอนทราบว่าตอนสอนในระดับเบื้องต้นควรสอนและผู้ฝึกควรรู้อะไรเป็นพื้นฐานขั้นต้น แต่สิ่งที่ฝึกนั้นไม่ได้เป็นไปตามตำราเลย การฝึกของบูจินกันเองที่ถูกต้องแล้วจะไม่ยึดตามตำรา แต่มาจากการฝึกที่ถ่ายทอดจากอาจารย์ ไม่ยึดตามท่าร่างหรือกาต้า (แต่มีกาต้า) เพราะโดยมากการฝึกกาต้าจะต้องฝึกที่ henka
ดังนั้นจึงไม่สามารถเอามาสอบสายกันได้ว่า สายนี้ ๆ ต้องรู้เทคนิคอะไรแล้วบ้าง
เพราะทุกเทคนิคควรจะทำได้และพัฒนาควบคู่กันไปทั้งหมด
การฝึกวิชาอย่างบูจินกันเป็นวิชาที่เหมือยจะง่าย ดูง่าย ในสายตาคนไม่เข้าใจ
หรือ แม้กระทั่งคนมาฝึกด้วยกันเอง ผมชอบเอาไปเทียบกับคณิตศาสตร์
คุณมีเครื่องหมายและตัวเลขที่จำกัด เด็กประถมจนถึงปริญญาเอกใช้ตัวเลขเดียวกัน
ถ้าเด็กประถมเห็นเด็กมัธยมเขียนสมการขึ้นมาสักอัน
เด็กประถมจะเข้าใจความหมายในระดับตัวเองเท่านั้น คือ รู้ตัวเลขว่าคืออะไรและเครื่องหมายบวกลบคูณหาร เด็กมัธยมเองก็มีความเข้าใจในระดับตนเอง และ เด็กปริญญาเอกก็ต้องเข้าใจลึกลงไปในแก่นของสมการนั้น ๆ การฝึกศิลปะการต่อสู้มักเป็นแบบนี้ ปีสองปีแรกมักเป็นปีที่ผู้ฝึกยังใหม่ ๆ จากไม่รู้แล้วเริ่มรู้ขึ้นมา จนบางทีก็หลงตนไปกลายเป็นคิดว่าตัวเองรู้ไปหมด ทั้ง ๆ ที่ยังเหลืออะไรให้เรียนอีกมากแล้วก็เลือกทางอื่นเดินไปเสียก่อน
หากเราดูหัวข้อการฝึกของบูจินกันที่ผ่าน ๆ มา จะพบแนวการสอนที่วางไว้อย่างเป็นระบบ
ช่วงยุค 80 เป็นช่วงเปิดวิชาต้น ๆ สอนพื้นฐาน และ เน้นการใช้ไทจุสสุ (ในแบบของกาต้า)
ช่วงยุค 90 ตอนต้น เมื่อนักเรียนมีพื้นฐานกัน เคลื่อนไหวกันเริ่มได้ก็สอนอาวุธต่าง ๆ เช่น ดาบ พลอง ง้าว พลองสั้น ดาบสั้น หอก
ช่วงยุค 90 ตอนหลังเป็นต้นมา สอนวิชาของแต่ละสาย(9 ริว) เนื่องจากพื้นฐานทั้งมือเปล่าและอาวุธได้แล้ว
จนช่วงปลายยุค 2000 เริ่มสอนเข้าสู่นินโป และ ลึกลงไปในความเข้าใจเรื่องนินจุสสุ และ อาวุธที่ผสมผสานในระดับสูงขึ้นไปอีก
จะเห็นว่าการสอนของอาจารย์เรียงระดับ และเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนมานาน 20-30 ปี!
ที่จะเข้าสู่การฝึกของนินโป นินจุสสุ ที่ไม่ใช่แค่การฝึกท่าเท่านั้น
ดังนั้นคนที่เข้าฝึกหลายปีก่อนกับตอนนี้ บรรดาท่าร่างที่ใช้ฝึกต่าง ๆ แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง
อาจารย์มะซึอะกิ ถึงมักบอกว่าให้นักเรียนฝึกอย่างสม่ำเสมอ และเลือกครูผู้สอนที่ฝึกสม่ำเสมอเช่นกัน
ทำให้ในระบบของบูจินกันจึงมีการทำบัตรชิโดชิ(บัตรสมาคมผู้ฝึกสอน)ให้กับครูผู้สอน ที่ต้องต่ออายุทุกปี เพราะต้องการคงคุณภาพของผู้สอน เพราะเราก็จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศก็มีผู้สอนจำนวนมากโดยเฉพาะยุคแรก ๆ ฝึกปีสองปีไปเปิดโรงฝึก แล้วก็เลิกฝึกตัวเองไปแล้ว บางทีฝึกมาปีสองปีเอาไปสอนเป็นสิบปีความรู้ตอนแรกไม่ถึงไหน และ ไม่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม (แล้วเอาอะไรไปสอน)
ยกตัวอย่าง อย่างที่เขียนไล่จำนวนปีข้างต้น หากคนเลิกฝึกไปเมื่อยุค 80 ยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องอาวุธ ไม่ได้เรียนเรื่องนินโป ยังขาดความรู้อีกมาก ยังไม่ได้ถึงระดับที่อาจารย์ต้องการถ่ายทอดออกมาด้วยซ้ำไป และ ยังไม่ได้รู้สิ่งที่อาจารย์สอนในช่วงหลัง ๆ
(นอกจากนั้นการเข้าฝึกกับอาจารย์ก็เป็นโอกาสดี ที่คนสอนแต่ละคนจะเอาน้ำออกจากแก้วในแต่ละปี)
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชิราอิชิก็เน้นย้ำสม่ำเสมอว่า อย่ารีบอย่าเร่งตัวเองเกินไป
คนแต่ละคนจะมีพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมือนขั้นบันไดทีละก้าว ๆ สูงขึ้นไป ขอให้ค้นหาตัวเอง ฝึกให้สนุก เปิดหูเปิดตาตัวเองที่จะรู้อะไรใหม่ ๆ อย่ายึดติดกับสิ่งที่มีอยู่ และ เรียนรู้ไปแล้ว
แล้วช่วงนั้น เป็นหน้าที่ของนักเรียนที่จะฝึกฝนตนเองจนได้รับความไว้วางใจที่อาจารย์จะถ่ายทอดวิชาในแต่ละขั้น ๆ ออกไป
Bufu Ikkan!
Nijiryu